นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่ได้รับการเสนอจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องการช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการด้านไฟฟ้าและน้ำประปา ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ คือ เม.ย. - มิ.ย. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นางนฤมล ชี้ว่า สำหรับมาตรการด้านไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งฝั่งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมาตรการแรก จะเป็นการลดค่าไฟฟ้าลงร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย.) ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 5,160 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1,600 บาท สำหรับการไฟฟ้านครหลวง และอีก 3,560 ล้านบาท สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ขณะที่มาตรการที่ 2 จะเป็นการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง อาทิ ธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน ซึ่งไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล โดยย้ำว่าจะไม่มีการงดจ่ายไฟเป็นการชั่วคราว
ด้านมาตรการสุดท้ายของฝั่งไฟฟ้า คือการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 คือกิจการขนาดเล็ก รวม 22.17 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวม 32,700 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง 3.87 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 13,000 ล้านบาท ขณะที่แบ่งเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 18.30 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 19,700 ล้านบาท
ด้านมาตรการช่วยเหลือประชาชนฝั่งน้ำประปาทั้งจากการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิถาค นางนฤมล ชี้ว่า ครม. มีมติให้ลดค่าน้ำประปาลงในอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย.) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 330 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น งบประมาณสำหรับการประปานครหลวงจำนวน 130 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 200 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย และสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบใบแจ้งค่าน้ำประปา ซึ่งคิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทั้งหมด 30,900 ราย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 คือที่พักอาศัย รวมทั้งสิ้น 5.7 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 2,834 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น งบประมาณสำหรับการประปานครหลวง จำนวน 2 ล้านราย หรือ 1,034 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 3.7 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1,800 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :