ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' ร่วมรำลึกงาน 14 ตุลา 'อมรัตน์' ไล่เรียงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มองประชาธิปไตยปัจจุบันไม่ตรงปก 'พรรณิการ์' ชี้เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เผยหากไม่แก้โครงสร้าง ไล่เผด็จการคนหนึ่งไป คนใหม่ก็มา

วันที่ 14 ต.ค. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมรำลึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศไทย วัน 14 ตุลา มหาวิปโยค ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีมวลชนจำนวนมหาศาลเข้าร่วมต่อต้านเผด็จการในเวลานั้น โดยกิจกรรมวันนี้มีทั้งญาติวีรชนเหตุการณ์ ประชาชน นักกิจกรรมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักการเมืองเข้าร่วมงาน

อมรัตน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเริ่มต้นด้วยการคารวะผู้เสียสละในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนจะกล่าวถึงใจความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นทั้ง 'ชัยชนะ' และ 'ความพ่ายแพ้' โดยที่กล่าวเช่นนั้นเพราะว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา สามารถขับไล่เผด็จการที่ครองอำนาจไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันภายในเวลา 3 ปีเท่านั้นเผด็จการกลับมาของอำนาจและกลับมามีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งของความรุนแรงที่ก่อโดยรัฐ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้กระทำผิดได้รับโทษ

อมรัตน์ ยังได้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถขับไล่เผด็จการและมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เป็นเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองความคิดของประชาชนทั้งหมดได้ ดังนั้นการขับไล่เผด็จการยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและในระดับรัฐบาล

"เราต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างของประเทศ เอากองทัพออกไปจากการเมืองยุติการเข้ามาของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือ มือที่มองไม่เห็นหยุดการแทรกแซงทางการเมืองจากองคาพยพที่ไม่เกี่ยวข้อง" อมรัตน์ กล่าว

อมรัตน์ ยังได้ย้ำว่าปัจจุบันเป็นเวลากว่า 90 ปีแล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ประเทศไทยยังไม่ "ตรงปก" ประเทศรัฐธรรมนูญเสียที ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำ


ไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ พรรณิการ์ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้าที่เดินทางมาพร้อมกัน กล่าวเสริมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาไว้ว่า ไม่ควรมีใครต้องต่อสู้เรียกร้อง และล้มตายเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เพราะเป็นการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษา มวลชน กรรมกร ชาวนา ครั้งใหญ่ ทั่วประเทศลุกฮือกัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะกรุงเทพมหานคร 

แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลายเป็นความพ่ายแพ้เพราะมันไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน บทเรียนจาก 14 ตุลา สอนให้รู้ว่า ไล่เผด็จการออกไป เผด็จการคนใหม่ก็เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่เราไม่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศให้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง และปฏิรูปทุกสถาบันให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ