วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการนับต่างด้าวรวมกับจำนวนประชากรด้วย ว่า หากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันเช่นนั้นก็แล้วแต่ กกต. ส่วนจะมีปัญหาภายหลังหรือไม่ ตนเองไม่รู้ เพราะก็มีเหตุผลของเขา คือ เคยทำ และประกาศกระทรวงเขียนเช่นนั้นก็ไม่ว่ากัน ปล่อยเขาไป
ทั้งนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเรื่องประกาศทะเบียนราษฎร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยบอกไปแล้ว หากมีข้อสงสัยให้ถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เคยบอกไปแล้ว ไม่ใช่ว่าความเห็นของตนถูกหรือผิด แต่เมื่อมีข้อสงสัยก็ให้ถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่จะมีการขึ้นค่าตอบแทนให้กับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กระทรวงมหาดไทยสามารถร่างกฎกระทรวง โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบ ไม่เคยดู ต้องถามกระทรวงมหาดไทยว่าอาศัยกฎระเบียบอะไร เป็นเงินส่วนท้องถิ่นหรือเงินส่วนใดตนไม่แน่ใจ แต่หากเป็นเงินของรัฐบาลจะต้องนำเข้า ครม.
ทั้งนี้ หากเป็นงบประมาณส่วนท้องถิ่น จะเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย หากคิดคำนวณจากรายได้ก็เป็นเช่นนั้น ถ้ามีเวลาจะศึกษาให้
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องของการยุบสภา วิษณุ ระบุว่า ไม่มี ไม่เคย ไม่หารือใครทั้งนั้น และส่วนที่ มีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาในช่วงเดือนมีนาคม ก็ยังเหลือเวลาอีกตั้งหลายวัน วันนี้ก็เพิ่งวันที่ 8 ก.พ. เพราะอย่างไรก็ไม่ยุบสภา ในเดือน ก.พ.อยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องรีบเร่งหารือ ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้วไม่มีอะไรซับซ้อน
ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพูดถึงนโยบายการหาเสียงที่อาจจะมีการผูกพันกับงบประมาณจำนวนมากนั้น วิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พูดในเรื่องของงบประมาณ ที่ต้องระวังเรื่องการหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลเหลืองบประมาณเท่านั้น เท่านี้ แต่ต้องใช้ไปจนถึงสิ้นปี งบประมาณมายังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในสภาซึ่งหากนำไปเขียนหรือพูดหรือพูด ผูกพันงบประมาณจำนวนมหาศาลขนาดนี้ แล้วจะนำเงินมาจากไหน เรื่องหาเสียงจะมาพูดเป็นแสนล้าน เมื่อถึงเวลาก็อ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอก็เท่านั้นเอง เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีคนของบกลางเข้ามานายกรัฐมนตรีก็ต้องชี้แจงว่าเหลือไม่มากแล้ว เหมือนกับเรื่องการหาเสียง ถ้าหากรัฐบาลหน้าเข้ามาก่อนวันที่ 1 ต.ค. แล้วรัฐบาลนี้ใช้เงินหมด รัฐบาลหน้าก็ไม่มีงบประมาณในการใช้จ่าย
ส่วนการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 โดยไม่ลงมติในวันที่ 15-16 ก.พ. นี้ วิษณุ กล่าวว่า ได้สั่งให้คณะกรรมการ ป.ย.ป. เตรียมข้อมูล แต่เมื่อเวลารัฐมนตรี มีความชำนาญก็สามารถชี้แจงได้
เมื่อถามว่า เหตุสภาล่มจะไม่มีปัญหากับการอภิปรายทั่วไปใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า สภาล่มก็ถือว่าจบไป ส่วนหากสภาล่มตั้งแต่วันแรกจะมีการอภิปรายต่อในวันที่ 2 หรือไม่ ก็ต้องมีการหารือกัน หากไม่มีข้อสงสัยก็ถือว่าจบไป เพราะไม่มีการลงมติ ซึ่งไม่เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะต้องมีการลงมติ ที่หากสภาล่มก็ต้องประชุมต่อให้จบ
ส่วนหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา ทำให้สถานะกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ และนายกฯรักษาการ สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการถ่ายทอดภารกิจให้กับนายกฯอย่างไรต่อไป และนายกฯ ยังสามารถลงพื้นที่ได้หรือไม่
วิษณุ บอกว่า ทำได้ในฐานะนายกฯ ซึ่ง กกต.แสดงความเป็นห่วงว่า จะใช้อำนาจตำแหน่งหน้าทีโดยมิชอบ เช่นนายกฯอาจจะลงพื้นที่ก็ต้องไปในนามนายกฯ ส่วนจะได้ประโยชน์อะไรตามมาก็เป็นเรื่องปกติของทุกรัฐบาล ยุบมาแล้วหลายสิบครั้ง ก็มีรัฐบาลรักษาการทุกครั้ง และระหว่างมีรัฐบาลรักษาการ นายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถลงพื้นที่ได้ทุกครั้ง เช่นในยุคของรัฐบาลนายกฯชวน หรือนายกฯบรรหาร หรือทุกรัฐบาล ก็สามารถทำได้ เพราะขณะนั้นนายกรัฐมนตรีจะมีหลายสถานะ 1. รักษาการนายกรัฐมนตรี 2.หัวหน้าพรรคฯ 3.ต้องลงพื้นที่หาเสียงช่วยลูกพรรค ซึ่งยอมรับว่า ความเป็นรัฐบาลได้เปรียบโดยอัตโนมัติ เพราะมีต้นทุนของรัฐบาลเดิม
ส่วนการลงพื้นที่ของนายกฯ ในปัจจุบันนี้ มี 2 สถานะ ทั้งไปในนามสมาชิกพรรค บางวันก็ลงพื้นที่ไปในนามรัฐบาล ซึ่งการลงพื้นที่ต่างๆก็ยังใช้ทีมงานและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชุดเดิมของรัฐบาล นายวิษณุ ชี้แจงเพิ่มว่า ยังสามารถใช้ได้ปกติตามสถานะ แม้จะพ้นตำแหน่งนายกฯกลับไปอยู่บ้าน ก็ยังมีผู้ติดตาม รถหลวงก็ยังใช้ได้"