ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ สมช.​ เผย​ผลเรียกประชุมการข่าวด่วนเหตุบึ้มชายแดนใต้ กลุ่มเดิม​แต่เปลี่ยนคนก่อเหตุ​ - เชื่อไม่เกี่ยวช่วงสภาพิจารณา งบปี 66 - ปัดตอบ​เอี่ยวการเมือง​ ชี้ต้องดูในหลายมิติ​ - พร้อมประเมินภัยคุกคามช่วงประชุมเอเปคทั้งในและนอกประเทศอยู่แล้ว เผยที่ประชุม ศบค.เตรียมพิจารณาแผนกระจายยาโควิด-19 พิจารณาแผนรับมือการประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ - ชี้จะยุบ ศบค.หรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แม้ สธ.ออกประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว มองยังไม่จำเป็นยกเลืกกฎหมายฉุกเฉิน

พล.อ.สุพจน์​ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.​) กล่าวถึงสถานการณ์ระเบิดเกือบ 20 จุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้​ เกี่ยวข้องกับการอยู่ในช่วงท้ายของรัฐบาลหรือเป็นการทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ ว่า​ เรื่องดังกล่าวได้มีการชี้แจงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้​ สมช.ได้ดูใน 4-5 มิติ รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ ได้มีการสั่งการเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด​ 

ขณะเดียวกันวานนี้ ตนได้มีการประชุมหน่วยข่าวในพื้นที่อย่างเร่งด่วนเพื่อรับฟังปัญหาและและมอบหมายแนวทางที่นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง ได้สั่งการโดยสิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนคือการยกระดับมาตรการป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย และเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสิ่งที่จะทำต่อไปคือการสืบสวนสอบสวนให้ได้มาซึ่งผู้ก่อเหตุที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว ยุติธรรมและเป็นไปตามขั้นตอน​ นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับระบบการทำงานที่สำคัญในเรื่องของความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ มาตรการในการรักษาความสงบ การเดินหน้าทำความเข้าใจ​ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มากยิ่งขึ้น​ นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกมิติคือ การสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น และพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.สุพจน์​ ยอมรับว่า​ มีการข่าวในการก่อเหตุมาอยู่แล้ว แต่ในการก่อเหตุครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินการ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ขอให้รอฟังผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ซึ่งตนคาดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยทำอยู่

ส่วนที่หลายฝ่ายมีความพยายามเชื่อมโยงกับการเมือง พล.อ.สุพจน์​ ระบุว่า ตนคิดว่ามีหลายมิติที่ต้องดู การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ การเมืองก็คือบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะฉะนั้นก็จะดำเนินการคู่ขนานกับการใช้กำลังที่ก่อเหตุรุนแรงด้วยเหตุผลได้เหตุผลหนึ่ง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน​ พร้อมเชื่อว่าครั้งนี้เป็นการดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายเปราะบางด้านเศรษฐกิจ​ ซึ่งพื้นที่ก่อเหตุเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันเช่นร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยรัฐบาลนั้นให้ความสำคัญและจะเร่งดำเนินการแก้ไข

ส่วนมีการประเมินหรือไม่ว่าการก่อเหตุดังกล่าวเหตุใดจึงเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พล.อ.สุพจน์​ กล่าวว่า​ เป็นจังหวะของเหตุการณ์เพราะหากติดตามการเจรจาพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้มีความคืบหน้า​ มีการพูดคุยกันบ่อยขึ้น​ และครอบคลุมในทุกมิติ​ แต่กลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมของปัญหาก็จะมีความต้องการแตกต่างกันไป​ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องการตอบสนองของประเทศให้พื้นทึ่มีความสงบ​ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้พหุสังคมวัฒนธรรม มีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องหาวิธีการผสมผสานและปรับวิธีการไปเรื่อยๆ ความต้องการของตัวเองเพื่อให้แต่ละฝ่ายนั้นบรรลุวัตถุประสงค์

เมื่อถามย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับ ช่วงการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 66​ ด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.สุพจน์​ มองว่า ​ไม่น่าจะ​ หากดูจากแผนงานโครงการที่เข้าไปทำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่ารัฐบาลมีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีอาชีพ มีงานทำ และมีการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกระดับ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่อยู่ร่วมกันได้และมีความเจริญ

ทั้งนี้ พล.อ.สุพจน์​ ปฏิเสธการตอบคำถาม ถึงกรณีแง่ของความมั่นคงได้มีการเตรียมการ เรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่นักวิชาการออกมาระบุให้ฝ่ายความมั่นคงระวังเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนั้น พล.อ.สุพจน์​ กล่าวว่า​ ตนในฐานะที่วิเคราะห์​ภัยคุกคาม​ต้องดูในทุกมิติ​ ทั้งภัยที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ


พรุ่งนี้ ศบค.ใหญ่ถกแผนกระจายยาโควิด

พล.อ.สุพจน์ เปิดเผยว่า การประชุม ศบค.วันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุข ที่จะกำหนดกรอบแนวทางโรคโควิด-19 เป็นโรคที่จะต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 เป็นอำนาจของ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนเมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังแล้วจะยุบ ศบค.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งจะต้องประเมินสถานการณ์ว่าจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายพิเศษหรือไม่ 

ส่วนข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการขยายเวลา การเปิดผับจนถึงเวลาตี 4 นั้น ขึ้นอยู่กับในส่วนของมหาดไทยจะไปพิจารณา ที่ผ่านมา ศบค.พิจารณา จนสุดทางแล้ว แต่ ศบค.จะให้ข้อกังวล หากเปิดแล้วจะมีผลกระทบกับกับประชาชนในการป้องกันโควิดหรือไม่ 

เมื่อถามว่า ขณะนี้ สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินหรือไม่นั้น เลขา สมช. เห็นว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นใช้ เพราะจะต้องกำกับควบคุมคนเดินทางเข้าออกประเทศ และห้ามในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดให้เกิดโรคระบาด 

ขณะเดียวกันแม้ดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่มาตรการในการรองรับทั้งการรักษาพยาบาล การกระจายยา การดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วย ที่ประชาชนดำเนินการอยู่เป็นไปในทิศทางที่ดี 

ซึ่งการพิจารณาในที่ประชุม ศบค.ในวันพรุ่งนี้ จะเน้นไปที่แผนกระจายยา ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปยังโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเวชกรรมแล้ว ต่อไปก็จะขยายไปยังร้านขายยาชั้นหนึ่งให้จำหน่ายยาได้ ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และให้ผุ้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมแผนนำไปสู่การประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง และรองรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดใหญ่ที่จะต้องบูรณาการ กับจังหวัดปริมณฑล 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังจะพิจารณาถึงการเปิดด่านชายแดนหลังจากที่มีการผ่อนคลายเปิดไปแล้วหนึ่งเดือนผ่านมา รวมถึงรับทราบรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว