ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติยกเว้นวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่น เป็นกรณีพิเศษ นาน 30 วัน เริ่ม 1 มกราคม 2567 – 30 ธันวาคม 2569 พร้อมอนุมัติเงินเยียวยา แรงงานไทยในอิสราเอล จำนวน 15,000 ราย - รายละ 50,000 บาท มีผล ธ.ค.66-ก.ย.67

คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรียกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น

ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจ ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31ธันวาคม 2569 เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

คารม กล่าวว่า การกำหนดให้ผู้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจ ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ จะช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจเดินทางมาขยายความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเป้าจะส่งเสริม ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า การแทพย์ ชีวภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ครม.อนุมัติเงินเยียวยา แรงงานไทยในอิสราเอล จำนวน 15,000 ราย

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติเงินเยียวยาตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ใช้งบกลางปี 2566 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยเสนอให้ความช่วยเหลือการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ โดยมอบเงินเยียวยาคนละ 50,000 บาท ให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 15,000 คน แบ่งเป็นแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางกลับไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จำนวน 9,475 คน

กลุ่มที่ 2 เป็นรายงานไทยที่เสียชีวิต39 คน และกลุ่มที่ 3 เป็นแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศอิสราเอลแต่เดินทางกลับมาก่อนวันที่ 7 ตุลาคม ภายใต้เงื่อนไข RE entry Visa และจะต้องกลับไปทำงานต่อ แต่เกิดเหตุการณ์ ทำให้ไม่สามารถ กลับไปทำงานได้ จำนวน 960 คน และกลุ่มสุดท้ายคือประมาณการแรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 4,520 คน รวมแล้วเป็นเงิน 750 ล้านบาท โดยจะมีผลในเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567

ครม. เห็นชอบเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนไตรภาคี 3 ฝ่าย

คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมียนมา และไทย ระยะที่ 2

โดยอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิสร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินการความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 (หนังสือแสดงเจตจำนงฯ) (โครงการ PROMISE ระยะที่ 2) 2. อนุมัติให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ และ 3. หากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ถ้อยคำในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

คารม กล่าวว่า กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนไตรภาคี [3 ฝ่าย ได้แก่ (1) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (กต. ฝ่ายไทย) (2) SDC (องค์การฝ่ายสมาพันธรัฐสวิส) และ (3) IOM (องค์การระหว่างประเทศ)] ภายใต้โครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดระยะเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2564 - สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 1* (เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 - สิงหาคม 2564 ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ) ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานสัญชาติกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติ 

สำหรับเป้าหมายของโครงการ ประกอบด้วย แรงงานงานข้ามชาติจำนวนมากกว่า 450,000 ราย ใน 4 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย) จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ โดยแรงงานข้ามชาติ 150,000 ราย จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาและการรับรองทักษะฝีมือรวมถึงการส่งต่องาน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และแรงงานข้ามชาติ 300,000 ราย จะได้รับข้อมูลข่าวสาร การขยายเครือช่ายและการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น

เพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งนี้ นายจ้าง 300 ราย จะสร้างกลไกการจัดฝึกอบรมแก่แรงงานข้ามชาติภายในสถานประกอบการนั้น ๆ และได้รับการฝึกอบรม ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการคุ้มครองแรงงานในการโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้แทนจากภาครัฐ นายจ้าง และภาคประชาสังคม 400 ราย จะได้รับการฝึกอบรมด้านการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและมีความยุติธรรม ตลอดจนการตรวจสอบลักษณะการจ้างงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน  

“โครงการดังกล่าวจะมีส่วนขับเคลื่อนงานการทูตเพื่อการพัฒนากับกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของไทยและผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของไทยให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้การรับรองในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และยังส่งเสริมการทำงานของกลไกในระดับภูมิภาคด้านแรงงานข้ามชาติ เช่น เวทีการประชุมอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ อันจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและได้รับการพัฒนาทักษะจนเป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันนำไปสู่การเติบโตที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และช่วยลดปัญหาความยากจนของภูมิภาคในระยะยาว” นายคารม ย้ำ