ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม ครม.รับทราบควมาก้าวหน้าความร่วมมือไทย-จีน โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติโครงการปีนี้ พร้อมอนุมัติความร่วมมือไทย-เวียดนาม บังคับใช้กฎหมายทางทะเล ยกระดับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค และเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติมใน 21 จังหวัด รวม 49 แห่ง และ

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า ครม.รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที และจะใช้งบประมาณลงทุน 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โดยมีรายละเอียด อาทิ

1.สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก (ร้อยละ 98.37) สัญญา 3-4 ลาตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (ร้อยละ 58.89) และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่นสัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า 

2.งานจ้างออกแบบรายละเอียด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC) ซึ่งฝ่ายจีนได้ออกแบบเสร็จแล้ว

3.งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ขณะนี้ ผู้รับจ้างได้ออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป

4.การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่จะมาเดินรถในอนาคต ซึ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบองค์กร 

5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นองค์การมหาชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน

รัชดา กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงเบาและที่จอดรถไฟที่นาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงหนักในพื้นที่เชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง รวมถึงย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะสามารถเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571

มากไปกว่านั้น สำหรับการเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินการ อาทิ

1.การบริหารจัดการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ และมีการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป

2.การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ห่างจากสะพานแห่งเดิมประมาณ 30 เมตร ซึ่งไทยและ สปป. ลาว จะร่วมลงทุนในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์บนสะพานเดียวกัน 2) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์โดยมีโครงสร้างแยกจากกัน และ 3) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟเพียงอย่างเดียว โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้รองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ สปป. ลาว ทราบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566

3.การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน พัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ อยู่ระหว่างออกประกาศให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย และระยะยาว พัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้คณะกรรมการ รฟท. พิจารณา

รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30 มีสาระสำคัญ อาทิ (1)ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย โดยจีนจะให้ความร่วมมือในด้านการเงิน (2)ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป. ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์


ครม.อนุมัติความร่วมมือไทย-เวียดนาม บังคับใช้กฎหมายทางทะเล

รัชดา เปิดเผยอีกว่า ครม.อนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ในความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ตามที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) เสนอ โดยฝ่ายเวียดนามประสงค์ให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในช่วงเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ ศรชล.ได้เริ่มจัดร่างบันทึกความเข้าใจมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ส่งเสริมความร่วมมือ และยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค รวม 4 ด้าน ได้แก่ (1)การลักลอบขนสินค้าและการหลบหนีเข้าเมือง (2)การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (3)การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ (4)ยกระดับความปลอดภัยในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 

ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ความเสมอภาค และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนกัน โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการร่วมกันภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ (1)แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมายและการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (2)ป้องกันและปราบปรามกิจกรรมการประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การค้ายาเสพติด การปล้นสะดม และการปล้นเรือด้วยอาวุธ (3)ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล (4)อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล (5)ปฏิบัติการลาดตระเวนร่วม (6)เยี่ยมชมท่าเรือ (7)ประเมินผลการประชุมประจำปี (8)กิจกรรมหรือการดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม และสามารถยกเลิกได้ โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 จำนวน 49 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกับที่ ครม.ได้ให้การรับรองทั่วประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้ ในการประชุม ครม. วันที่ 23 ส.ค. 65, 8 พ.ย. 65, 21 ก.พ. 66 และ 16 พ.ค. 66 จำนวน 155 แห่ง จะให้มีวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองตามระเบียบฯ รวมแล้วมีทั้งสิ้น 204 แห่ง

สำหรับวัดคาทอลิกทั้ง 49 แห่งที่ได้รับการรับรองครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการกลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าทั้งหมด มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้แก่ 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำวัด และ 5) มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด/ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบศาสนพิธี

ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองทั้ง 49 แห่ง อยู่ใน 21 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี 9 แห่ง, เชียงราย 7 แห่ง, ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สกลนคร จังหวัดละ 3 แห่ง กรุงเทพฯ จันทบุรี ภูเก็ต ยะลา นครพนม และมุกดาหาร จังหวัดละ 2 แห่ง, สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ ลำปาง ชุมพร พังงา ตรัง สงขลา ปัตตานี และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 แห่ง

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับรองวัดคาทอลิกนั้น นอกจากจะเป็นสถานประกอบศาสนพิธีต่างๆ แล้ว ยังจะสนับสนุนให้วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและพัฒนาจิตใจของชุมชนและท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่พบปะส่งผลให้เกิดความสามัคคีในชุมชน


รับทราบรายงานส่งออกไทยประจำเดือน มิ.ย. และครึ่งแรกปี 66

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกไทยประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทิพานัน กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย และเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การผลิตและการบริโภคจึงยังคงตึงตัว คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 และหดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการขยายตัว จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกได้ในระยะนี้

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าสำคัญหลายประเภทที่ขยายตัว อาทิเช่น 

1. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 68.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเก๊า

2. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง และไต้หวัน

3. อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี

4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 30.3 โดยขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง 

5. แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 โดยขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฟิลิปบินส์

6. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเขีย และชาอุดีอาระเบีย

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่

1. น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน

2. ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

3. ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 11.3 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

4. ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และสหราช

อาณาจักร

5. เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน ลาว และมาเลเซีย

ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมาเพื่อมาตรการส่งเสริมการส่งออก อาทิ 

IMG_20230823141335000000.jpeg


1.กิจกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ เช่น จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2023 ณ เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฎกะ สาธารณรัฐอินเดีย, เข้าร่วมงาน Western China International Fair (WCIF) ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน, นำผู้แทนการค้า (Trade Mission) ไปเจรจาการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา ชิลี บราชิล), เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2023 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมงานเทศกาล Annecy International Animation Film Festival 2023 เป็นต้น

2. ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบทั้ง 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด ไทย-กัมพูชา 7 จุด ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเขีย 9 จุด เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่งสินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเบิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ” ทิพานัน กล่าว