ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลฯ ประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วม 5 จังหวัดอีสานกลาง สั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจ พร้อมกำชับเฝ้าระวังตรวจสอบอาคารชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมแผนรับสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2562 เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในฤดูฝน ในพื้นที่ภาคอีสานก���าง ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธ์ ซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่ในเขตรับผิดชอบเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงพิจารณาการตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปี 2562 ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 6

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2562 และเตือนว่าในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้ศูนย์เครือข่ายปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1-17 ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เชิญโครงการชลประทานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัด มาหารือ ซึ่งทุกโครงการฯ ได้เตรียมแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ประจำตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนั้นได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) อย่างเคร่งครัด รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ด้วย 

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำกักเก็บ 588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้จริงประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯวันละประมาณ 1.55 ล้าน ลบ.ม. และระบายน้ำวันละ 500,000 ลบ.ม. จนถึงขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ มีการนำน้ำก้นอ่างฯ ขึ้นมาใช้เพียงประมาณ 9 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จากที่คาดการณ์ไว้ถึง 120 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าหากยังมีฝนตกในพื้นที่ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ได้นำน้ำก้นอ่างฯ ขึ้นมาใช้อีก 

ส่วนเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำประมาณ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 129 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ซึ่งพบว่าอ่างฯ ขนาดกลางมีแนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกในพื้นที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเพาะปลูกพืชตามแผนที่ทางราชการได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด