ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในภาคอีสาน แจงปรับแผนการระบายน้ำและเริ่มสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน (2 ต.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 5,104 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,453 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 3,300 ล้าน ลบ.ม. ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่ง ที่ยังคงมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper rule curve) อาทิ เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง ได้ทำการปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสม และเริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งแล้ว ส่วนที่เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบัน (2 ต.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 837 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 เป็นน้ำใช้การได้ 256 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานขอรับการสนับสนุนจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร และลำน้ำธรรมชาติ รวมถึงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ พร้อมกับวางแผนการจัดสรรน้ำ โดยคำนึงถึงการอุปโภค - บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตร ตามลำดับ

พร้อมกันนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง ภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อให้สามารถบรรเทา ติดตาม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ