ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูน้ำหลาก และแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ หลังทั่วประเทศเริ่มมีฝนตก กรมอุตุนิยมวิทยาคาดปลายสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ฤดูฝน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 13- 15 พ.ค. 62 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. 2562 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้คาดการว่าประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2562 และอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนตลอดจนฤดูแล้งปีหน้า

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(14 พ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 41,075 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 17,156 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,170 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,474 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอจนถึงฤดูฝน

ส่วนสภาพน้ำท่าในสายหลักต่างๆ ทางตอนบนของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนข้างน้อย เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ แม่น้ำปิงบริเวณ อ.บรรพตพิสัย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร แม่น้ำน่านบริเวณ อ.ชุมแสง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 382 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร โดยกรมชลประทานได้กำชับให้ทุกพื้นที่เตรียมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำให้พร้อมใช้งาน เพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ทันที

ด้านค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังเกิดน้ำทะเลหนุนส่งผลให้ค่าความเค็มที่สถานีสำแล จ.ปทุมธานี เพิ่มขึ้นเป็น 0.20 กรัม/ลิตร ซึ่งเข้าใกล้เกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัม/ลิตร กรมชลประทาน ได้ควบคุมค่าความเค็มจากการรุกตัวของน้ำทะเล โดยเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 90 เป็น 100 ลบ.ม./วินาที พร้อมให้ชะลอการ สูบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการช่วยผลักดันน้ำทะเลและควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนในแม่น้ำป่าสักได้ควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 10 ลบ.ม./วินาที จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร 99 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้ค่าความเค็มที่สถานีสำแล วานนี้ (14 พ.ค. 62) ลดลงมาอยู่ที่ 0.17 กรัม/ลิตร ซึ่งไม่มีผลต่อการผลิตประปาและการเกษตรแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้กำหนดให้มีการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน จำนวน 1 ทุ่ง คือ ทุ่งบางระกำ พื้นที่ 382,000 ไร่ ปัจจุบันได้ส่งน้ำเพื่อให้เริ่มการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 62 เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนเดือน ส.ค.62 หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าว รับน้ำเข้าทุ่งประมาณกลางเดือน ส.ค. 62 สามารถหน่วงน้ำได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 12 ทุ่ง พื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่ ได้เริ่มการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 62 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย. 62 หลังจากนั้น จะใช้พื้นที่ดังกล่าวรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. 62 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำหลากในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะสามารถหน่วงน้ำได้รวมประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.