นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 (1 พ.ย. 2560 – 30 เม.ย. 2561) กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดย ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 มีปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 36,115 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 9,704 ล้าน ลบ.ม.)
สำหรับปริมาณน้ำต้นทุน ที่ใช้สนับสนุนภาคการเกษตร ณ วันที่เริ่มต้นฤดูแล้ง รวมทั้งประเทศจัดสรรไว้ 15,952 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ดังนี้ ข้าว 8,351,625 ไร่ พืชไร่ 482,071 ไร่ พืชผัก 220,370 ไร่ พืชอื่นๆ 4,690,459 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13,744,524 ไร่
เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรรวม 5,110 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการเพาะพืชฤดูแล้งไว้ ดังนี้ ข้าว 5,170,572 ไร่ พืชไร่ 36,010 ไร่ พืชผัก 25,501 ไร่ พืชอื่นๆ 1,025,151 ไร่ รวมพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 6,257,234 ไร่
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานรวม 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. ,รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพ.ค. – ก.ค. 61
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(25 ก.พ.61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 55,873 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2560 รวม 7,993 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 31,953 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61 (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 23,905 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,078 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด (ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 3,357 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,382 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 7,025 ล้าน ลบ.ม.)
ทั้งนี้ ผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ 25 ก.พ. 61 มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,228 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯ ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ณ 21 ก.พ. 61 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.97 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ(แผน 9.05 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนฯ(แผน 8.35 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 351,631 ไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 111 ของแผนฯ(แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 111 ของแผนฯ (แผน 5.17 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 123,971 ไร่
สำหรับการควบคุมค่าความเค็มทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา 3 เดือน สามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ได้โดยไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาหรือภาคการเกษตร ส่วนลุ่มน้ำบางปะกง ค่าความเค็มบริเวณเขื่อนบางปะกง ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม(ไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร) วัดค่าความเค็มได้เพียง 0.30 กรัมต่อลิตร ทำให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา กลุ่มเกษตรกร และทุกภาคส่วน ยังสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้ง ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชลประทาน ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไว้อย่างเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2561 ด้วยการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยใช้ระบบชลประทาน ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ พร้อมกับมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้จำนวนทั้งสิ้น 2,365 เครื่อง โดยกระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ 1,702 เครื่อง และสํารองไว้ที่ส่วนกลางอีก 663 เครื่อง
นอกจากนี้ ยังได้ระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 242 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ของท่านได้ตลอดเวลา
สำหรับการเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 2561 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,862 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ได้วันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1(นาปี) ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประมาณ 383,000 ไร่ ให้เริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 61 ส่วนพื้นที่ดอน 1.80 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 12 ทุ่ง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ กรมชลประทาน จะส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนารอบที่ 1(นาปี) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 61 ส่วนพื้นที่ดอน 4.27 ล้านไร่ และพื้นที่อื่นๆทั้งประเทศให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน