วันที่ 14 พ.ย. จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กล่าวถึงนโยบายการยื่นกฤษฎีกาตีความนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ต้องรอกระบวนการของทางกฤษฎีกาที่เป็นขั้นตอนแรก
ส่วนการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้เงื่อนไขครอบคลุมมากขึ้นนั้น ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรึกษาเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายให้เรียบร้อย ซึ่งก็เข้าใจว่า ย่อมมีเสียงที่เห็นด้วยและเสียงที่เห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติ เราก็มีหน้าที่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายครบถ้วน พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนทุกรูปแบบ และจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่แรกก็จะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อให้เป็นไปตามที่เผื่อให้เป็นไปตามเสียงที่เราฟังมาและพยามทำให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ที่สุด และเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ตามกระแสข่าวระบุว่ามีบางคนในการประชุมไม่เห็นด้วยนั้น จุลพันธ์ กล่าวว่า ถ้าถามมาก็ตอบได้ ไม่เป็นเรื่องอะไรที่ลึกลับซับซ้อน ซึ่งการมีความเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละประเด็นถือเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามย้ำว่า พร้อมเปิดเผยบันทึกการประชุมใช่หรือไม่ จุลพันธ์ กล่าวว่า มันเป็นอีกเรื่องนึง เพราะตนไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย เพียงแค่ให้คำตอบได้ในแต่ละประเด็น
ส่วนกรณีที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจโตไม่ทันนั้นไม่ได้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มิติมันต่างกัน คุณศิริกัญญา อาจจะเห็นถึงความจำเป็น และความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลก็มีมิติของเรา ความเดือดร้อนของประชาชนมันถึงจุดแล้ว และเห็นทิศทางการเจริญเติบโตของประเทศเป็นปัญหา แต่สุดท้ายก็มีขั้นตอนตามกฏหมาย เราเองก็มีหน้าที่ในมุมของรัฐบาล ซึ่งจะต้องนำเสนอขั้นตอนทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายแล้วต้องบอกเหตุผลและความจำเป็นในมุมมองของเราด้วย ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถมาหารือร่วมกันได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ส่วนประเด็นที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเริ่มใช้เงินดิจิทัลฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2567 ได้หรือไม่ รมช.คลัง ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะยึดตามกรอบของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งนี่คือกรณีที่ไม่มีอุปสรรคใดๆและเร็วที่สุดคือเดือนพฤษภาคม 2567
เมื่อถามว่า ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาจะสามารถผ่านได้ใช่หรือไม่ จุลพันธ์ กล่าวว่า "ต้องมีความมั่นใจสิครับ ไม่งั้นคงไม่ออก"
เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลให้ความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน จุลพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นผู้หารือ แต่ที่ได้รับฟังทุกคนก็เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงความจำเป็นของนโยบายในการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผ่านนโยบายดังกล่าว