ไม่พบผลการค้นหา
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้นับ 1 ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 นั่นหมายความว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นใน 150 วันนับจากวันที่ 11  ธ.ค. 2561 ปฏิทินเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้อย่างเร็วสุดคือ วันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ. 2562

ขณะเดียวกัน คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พร้อมทั้งยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ โดยประเด็นสำคัญคือ การให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมืองหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิสก์ได้ ให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมพรรคได้ เป็นต้น

ประเด็นร้อนแรงตลอดสัปดาห์ หนีไม่พ้น พรรคการเมืองซีกที่ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เริ่มขยับเดินเกมรุกทางการเมือง

ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนพรรคการเมืองพี่ พรรคการเมืองน้อง แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สองพรรคการเมืองนี้ ต้องชูธง หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.

สโลแกน พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน หรือแม้แต่สโลแกน โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน ของพรรคไทยรักษาชาติ

แม้สองพรรคดังกล่าวจะแยกกันเดิน แต่จุดหมายและธงเดียวที่เหมือนกันคือ การกลับเข้าไปเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

สะท้อนปฏิกิริยาการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าทีมปราศรัยพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย ฟันธงว่า พรรคการเมืองพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะขาดการเลือกตั้งได้เสียงรวมกัน 300 ที่นั่งในสภา

“พลังประชารัฐไม่มีวันชนะเลือกตั้งได้วุฒิสภา 251 คนอยู่ไม่ได้ ผมเป็นฝ่ายค้านอยู่ได้ไง” ร.ต.อ.เฉลิม ย้ำ พร้อมเตือนพรรคการเมืองขั้วสืบทอดอำนาจ คสช.ว่า ฝ่ายประชาธิปไตยรวมแล้ว 300 เสียง ถ้าทะลุตามนี้จะมาเสนอนายกฯ แข่งได้อย่างไร มั่นใจว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นของฝ่ายประชาธิปไตย

พลังประชารัฐ ไผ่ กำแพงเพชร สุริยะ 10.jpg

หากพรรคพลังประชารัฐ แม้จะได้เสียงในสภาเพียงพอที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

เกมต่อไปของพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตยคือ การใช้เสียงข้างมากในสภา ผ่านทางประธานสภาผู้แทนราษฎร คอยยับยั้งการโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ในขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ โดย ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ประกาศในเวทีประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา “พรรคไทยรักษาชาติจะเป็นตัวชี้ขาดให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งครั้งนี้”

แม้จะยังไม่มีคำยืนยันอย่างทางการถึงจุดยืนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แอบเชียร์ พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในใจก็ตาม

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ส่งสัญญาณไปถึงพรรคพลังประชารัฐว่า พร้อมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยรอเพียงแกนนำพรรคมาเทียบเชิญ

และยังไม่ยืนยันว่าจะแสดงสปิริตทางการเมืองเหมือนที่ 4 แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีได้เคยประกาศไว้จะลาออกจากรัฐมนตรีเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

จตุพร นปช เพื่อชาติ _MG_9196.JPG

ตรงนี้ทำให้ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ และประธาน นปช. มองเกมขาดทันทีว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีทางลาออกจากหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจะไม่มีทางที่ 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

เพราะการลาออกเท่ากับปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโดดเดี่ยวและถูกประณามจากพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามตลอดการหาเสียง

“ทฤษฎีเฉลี่ยความชิงชัง” จึงถูกจุดออกมาจาก ‘จตุพร’

ขณะเดียวกัน ‘จตุพร’ ก็ไม่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งไปแล้ว แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้งก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ได้เขียนล็อกขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างแยบยล เพราะต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. หรือแม้แต่เสียงของฝ่ายค้านมาร่วมเห็นชอบด้วย

การเขียนกฎหมายสูงสุดไว้เช่นนี้ มีธงคือ ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปอีกหลังการเลือกตั้ง

แม้ ร.ต.อ.เฉลิม จะประกาศจุดยืน ซึ่งเปรียบเสมือนแคมเปญเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย จะดำเนินการรื้อ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกงของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’

แต่มันไม่ง่ายอย่างที่ประกาศนัก

พรรคเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งเป็นแขน และขาให้ พรรคการเมืองฝ่ายคสช. คือ ส.ว. 250 คน ย่อมไม่ปล่อยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ

ชัยชนะหลังเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.2562 จะเป็นของ 'ประชาธิปไตย' หรือฝ่าย 'ประยุทธ์'

ในทางการข่าว แม้หลายพรรคการเมืองจะมีการทำโพลสำรวจกระแสคะแนนนิยม

บ้างก็ว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เสียง ส.ส.เกือบ 200  ที่นั่ง พรรคไทยรักษาชาติได้ 40 ที่นั่ง รวมเสียงกับฝ่ายประชาธิปไตยแล้วได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเดินเกมในรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างราบรื่น นอกเสียว่าจะได้คะแนนแลนด์สไลด์ 300กว่าที่นั่งหรือได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีเสียงจำนวนเต็ม 750 ที่นั่ง

ซึ่งในทางทฤษฎีตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่มีทางเป็นไปได้

จาตุรนต์

ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคการเมืองทั้ง พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรคการเมืองอื่นๆที่ถูกเชิญให้มาร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายสืบทอดอำนาจ สามารถรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าตั้งนายกรัฐมนตรีคนหน้าเดิม ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้สำเร็จ

ก็ใช่ว่าจะบริหารประเทศได้ราบรื่น ฝ่ายค้านที่รวมเสียงกันในปีกประชาธิปไตยคงไม่ปล่อยให้ทำงานได้อย่างง่าย

กระบวนการตรวจสอบในสภาฯ ย่อมต้องเริ่มต้นได้ทันทีนับแต่เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก

ยิ่งถ้าฝ่ายสืบทอดอำนาจมีเสียงในสภาไม่เด็ดขาด การโหวตร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณ หรือกฎหมายสำคัญอาจถูกฝ่ายค้านตีรวนให้ล่มลงได้

นายกรัฐมนตรี แม้จะชื่อ ‘ประยุทธ์’ อีกครั้งก็ต้องเผชิญแรงเสียดทานในสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเสียงไม่เพียงพอในสภาฯ หากถึงขั้นต้องเจอการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมา ก็ใช่ว่า ส.ว. 250คนจะมาร่วมยกมือโหวตสนับสนุนได้

นี่จึงทำให้ ‘จตุพร’ มองเกมขาดว่าการอาศัยเสียงแต่ในรัฐสภาอย่างเดียวเพื่อเอาชนะกัน คงไม่ใช่ทางออกในปลายทาง เพราะจำนวนเสียงในสภาถูกเด็ดล็อกหรือกำหนดให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากไม่ถล่มทลาย

การแต่หารือร่วมกันทุกฝ่ายให้เห็นพ้องต้องกัน คือสิ่งที่พอเป็นไปได้ เพื่อเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่เต็มใบอย่างแท้จริง

สถานการณ์การเมืองไทยหลังเลือกต้ัง ใช่ว่าจะราบรื่น!