ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคา พร้อมรับทราบผลคัดเลือก กรุงเทพฯ-ชลบุรี-สงขลา เป็นจังหวัดเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33 ระหว่าง 9-20 ธ.ค. 68 และนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่าง 20-26 ม.ค. 69

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 16 พ.ค. 66 ครม.อนุมัติในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 66 พายุไซโคลนโมคา (Mocha) ซึ่งก่อตัวขึ้นในอ่างเบงกอลได้เคลื่อนตัวเข้าพื้นที่ด้านตะวันตกของเมียนมาบริเวณรัฐยะไข่ทำให้เกิดพายุฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน ดินโคลนถล่มและกระแสไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมียนมาอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้ออกแถลงการณ์จะสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้

ต่อมาในวันที่ 12 พ.ค. 66 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย แจ้งว่าทางการเมียนมาได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนดังกล่าว และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการสนับสนุนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วว่าพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงใกล้เคียงกับระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่รุนแรงมากกว่าพายุไซโคลนนาร์กีสที่เคยเกิดขึ้นกับเมียนมาในปี 2551 และมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินชาวเมียนมาอย่างกว้างขวางและเฉียบพลัน ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนอย่างยิ่ง

ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้สำหรับให้การช่วยเหลือนั้น ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณของส่วนราชการซึ่งได้รับการจัดสรรไว้อยู่แล้ว จึงไม่ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามมาตร 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ครม.รับทราบผลคัดเลือก กรุงเทพฯ-ชลบุรี-สงขลา เป็นจังหวัดเจ้าภาพซีเกมส์

นอกจากนี้ ครม.ได้รับทราบจังหวัดเจ้าภาพสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ.2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 รายการนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 ที่ได้เห็นชอบรับการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่13

ได้ดำเนินการคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพตามขั้นตอน และได้สรุปผลการคัดเลือก เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ ครม.รับทราบในครั้งนี้ ได้แก่ ให้ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค. 68 และนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. 69

คณะอนุกรรมการพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ ได้มีหนังสือเชิญทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-28 ต.ค. 65 โดยมีจังหวัดที่สนใจเสนอตัวทั้งแบบจังหวัดเดียว และแบบกลุ่มจังหวัด รวม 14 จังหวัด ประกอบด้วย

1)เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และกาญจนบุรี 2)เสนอตัวแบบจังหวัดเดียว (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสงขลา 3)เสนอตัวแบบกลุ่มจังหวัด (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) ได้แก่ กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษและยโสธร, กลุ่มจังหวัด ตรัง-กระบี่-ภูเก็ต และพังงา

ครม.อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการทดสอบวัคซีนในลิงมาร์โมเส็ท

ขณะเดียวกัน ครม.ได้อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/66 และในคราวประชุม 6/66

ทั้งนี้ อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและทดสอบวัคซีนและเภสัชภัณฑ์ในลิงมาร์โมเส็ท(โครงการทดสอบวัคซีนในลิงมาร์โมเส็ท) จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนเม.ย. 66 ไปสิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 66 โดยโครงการนี้มีกรอบวงเงินงบประมาณ 139.84 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 69.50 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.71

โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบกับมีความล่าช้าในการจัดซื้อและรับมอบลิงมาร์โมเส็ทจากผู้ค้าภายในประเทศที่อยู่ระหว่างเบิกจ่ายเงินสำหรับลิงมาร์โมเส็ท จำนวน 67 ตัว ส่วนการจัดซื้อจากต่างประเทศ 75 ตัว ประสบปัญหาการจัดหาสายการบินเพื่อขนส่งเข้ามาในประเทศ

พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการศึกษาความปลอดภัย(Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิ (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficacy) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะที่2a จากที่สิ้นสุดในเดือนมิ.ย. 66 เป็นสิ้นสุด วันที่ 29 ธ.ค. 66 โดยโครงการมีกรอบวงเงิน 211 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 116.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.4 

โดยเหตุผลที่ต้องมีการขยายระยะเวลาโครงการเนื่องด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยของการทดสอบวัคซีนระยะที่1 ของกลุ่มอาสาสมัครทั้ง2 กลุ่ม เพื่อนำมาอ้างอิงเพิ่มเติมต่อการขออนุมัติดำเนินการทดสอบวัคซีนในระยะที่สูงขึ้น ขณะที่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีความซับซ้อนทางเทคนิคจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้วัคซีนมีความปลอดภัยสูงสุด

ครม. ได้อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ รวม 99 โครงการ วงเงินรวม 422.55 ล้านบาท ประกอบด้วยให้ยกเลิก 35 โครงการใน 11 จังหวัด ขยายระยะเวลา 58 โครงการใน 18 จังหวัด และ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 6 โครงการ ใน 5 จังหวัด ตามลำดับ