ไม่พบผลการค้นหา
ครม.รับทราบ กกต. อนุมัติให้ใช้จ่ายงบกลางปี 66 สำหรับอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกวงเงิน 222.95 ล้านบาท

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 มิ.ย. 66 ได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีการขออนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 222.95 ล้านบาท เพื่อชำระเป็นเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของกระทรวงการต่างประเทศ [ชำระค่าบำรุงงบประมาณปกติ (Regular Budget) ของสหประชาชาติ ประจำปี ค.ศ.2023]

โดยเรื่องนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 ได้อนุมัติหลักการงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางฯ จำนวน 222.95 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงต่างประเทศชำระเป็นเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศฯ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา 169(3) ของรัฐธรรมนูญ โดยต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. จึงจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ 

ทั้งนี้ การประชุมของ กกต. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ได้มีมติเห็นชอบการใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามที่ ครม. เสนอ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศใช้จ่ายงบประมาณจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศฯ ต่อไป


สปน.สรุปผลดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ ปี66 รวม 14,449 เรื่องได้ข้อยุติร้อยละ 82.44

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 มิ.ย. 66 ได้รับทราบผลสรุปการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนในไตรมาสที่2 ปีงบประมาณ 66 (ม.ค.-มี.ค.66) พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ตามที่สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เสนอ

สปน. รายงานว่าในไตรมาสที่2 ที่ผ่านไปมีการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นประชาชนที่ยื่นผ่านการร้องทุกข์ 1111 ซึ่งประกอบด้วย สายด่วนรัฐบาล 1111, ตู้ ปณ. 1111, ไลน์สร้างสุข @PSC1111, แอปพลิเคชัน PSC1111, จุดบริการประชาชน 1111 และ เว็บไซต์ www.1111.go.th รวม 14,449 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 11,912 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.44 และรอผลการพิจารณษของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,537 เรื่องคิดเป็นร้อยละ 17.56

เมื่อแยกตามหน่วยงานแล้วจะพบการประสานเพื่อร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,454 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 586 เรื่อง กระทรวงคมนาคม 439 เรื่อง กระทรวงแรงงาน 300 เรื่อง และกระทรวงสาธารณศุข 280 เรื่อง 2)รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 158 เรื่อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 113 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 98 เรื่อง การประปาส่วนภูมิภาค 87 เรื่อง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 86 เรื่อง 3)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 858 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 245 เรื่อง ปทุมธานี 213 เรื่อง ชลบุรี 208 เรื่อง และสมุทรปราการ 197 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลตามประเด็นการร้องเรียนแล้ว พบว่าประเด็นที่ประชาชนร้องเรียนหรือให้ความคิดเป็นมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1)เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน 1,658 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,570 เรื่อง (ร้อยละ 94.96) 2)ไฟฟ้า 620 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 520 เรื่อง(ร้อยละ 83.87) 3)โทรศัพท์ 603 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 539 เรื่อง (ร้อยละ89.39) 4)ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน 517 เรื่อง ดำเนินการได้ขอ้ยุติ 361 เรื่อง (ร้อยละ 69.82) 5)บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 498 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 438 เรื่อง (ร้อยละ 87.95)

6)การเมือง เช่นความเห็นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียง, การติดป้ายหาเสียง การลงทะบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 462 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 453 เรื่อง (ร้อยละ 98.05) 7)น้ำประปา 441 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 394 เรื่อง (ร้อยละ 89.34) 8)ถนน 427 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 335 เรื่อง (ร้อยละ 78.45) 9)ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ 368 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 317 เรื่อง (ร้อยละ 86.14) 10)ควันไฟ/ฝุ่นละออง/เขม่า 351 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 305 เรื่อง (ร้อยละ 86.89)

สปน. ระบุว่าจากการรวบรวมข้อมูลปัญหาจากเรื่องราวร้องทุกข์ พบว่าในกรณีมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนทางโทรศัพท์ หรือคอลเซ็นเตอร์ และช่องทางออนไลน์ที่มีการ้องเรียนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่ขาดแนวทางการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูล การหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงาน และต้องการให้บังคับ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างทันท่วงที โดยดำเนินการเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการอยู่ตลอด

นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและบริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของประชาชน ควรบูรณาการฐานข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน และ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดปัญหาและภาระในการกรอกข้อมูลของประชาชน มีการประชาสัมพันธ์วิธีและขั้นตอนปฏิบัติให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนและทั่วถึง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดปัญหาข้อร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นได้