ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 เมษายน 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566) เกี่ยวกับนโยบายหลัก 7 ด้านและนโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
นโยบายหลัก 7 ด้าน ที่ได้ดำเนินการเรียบร้อย อาทิเช่น
1. ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ณ จ. แม่ฮ่องสอน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่สนุก” ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพ “วิชชาลัยผ้าทอหนองลำภู” และกิจกรรมถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่นเมืองใต้ในพื้นที่ 14 จังหวัด
2. วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียน และบูรณาการมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้าในพื้นที่ จ. ขอนแก่น 998,000 เม็ด และ จ. นนทบุรี 200,000 เม็ด
3. จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แก่
3.1 “วิถีถิ่น วิถีไทย” “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทยสานสายใยชาติพันธุ์” ณ จ. นครสวรรค์ โดยเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และผลักดัน “Soft Power” มีรายได้หมุนเวียนช่วงการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.94 ล้านบาท
3.2 งานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์
3.3 จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดโลกร้อนและนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
4. พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG โดยดำเนินโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาฐานระบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่
4.1 พัฒนาภาคเกษตร โดยจัดงาน “ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน” ประจำปี 66 ณ จ. เชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน
4.2 พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายใต้กิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” เช่น ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
4.3 พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค โดยเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ผ่านแอปพลิเคชัน “MOC Agri Mart” ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า
4.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยสร้างสรรค์เมนูอาหาร “ขนมชั้นแห่งอนาคต รางวัลชนะเลิศ Future for Sustainability” สูตรลดน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารในงานเลี้ยงรับรองของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022
5. จัดทำโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” โดยมีเป้าหมาย “4H” ได้แก่ Head ด้านปัญญา Heart ด้านทัศนคติ Hands ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง และ Health ด้านสุขภาพ
6. ยกระดับ รพ. ปลวกแดง 2 จ. ระยอง ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อรองรับประชาชนและผู้ประกันตนในพื้นที่ EEC
7. ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่าง ๆ
ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง มีการดำเนินการ เช่น ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาทจัดทำโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 680 แห่ง จำนวน 182,869 ราย จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 โครงการประกันภัยข้าวนาปีสำหรับเกษตรกร 1.9 ล้านคน โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับเกษตรกร 7.5 หมื่นราย โครงการมหกรรมรวมพลัง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ภายใต้นโยบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟู พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” เช่น กิจกรรมนัดพบแรงงาน และกิจกรรมจัดคลินิกส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
“นอกจากการดำเนินงานที่เป็นผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่ คือการดำเนินการเร่งด่วนที่สำคัญด้านการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศเพื่อเพิ่มเม็ดเงินรายได้ให้ประเทศไทย และจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อคุ้มครองชีวิตประชาชน โดย ณ เดือนมกราคม 2566 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 57,854 ล้านบาท และจับกุมคดียาเสพติด 7,324 คดี ยึดยาบ้า 9.75 ล้านเม็ด ไอซ์ 255.47 กก. เฮโรอีน 1.54 กก. เคตามีน 6.81 กก. ยาอี 8,480 เม็ด และฝิ่น 12.44 กรัม” น.ส.ทิพานัน กล่าว