ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติงบกลาง 998.44 ล้านบาท จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดต่อเนื่องเดือน ก.ย.66 ดูแลเด็กแรก – 6 ปี กว่า 2.25 ล้านคน รับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 63 และ 64 โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 998.442 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 2,254,534 คน ในเดือนกันยายน 2566 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับความจำเป็นที่ขออนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – สิงหาคม 2566 มีจำนวนเกินกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ทำให้งบประมาณปี 2566 ที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์ในเดือนกันยายน 2566 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงจำเป็นต้องขออนุมัติงบกลางดังกล่าว ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งให้สำนักงาน กกต. พิจารณาต่อไป

รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจัดสวัสดิการพื้นฐานแก่เด็กแรกเกิดให้ได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย โดยรัฐบาลมอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในอัตราเดือนละ 600 บาทต่อคน


ครม. รับทราบรายงานประจำปี 65 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภาพรวมผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วยคะแนน 4.76 ครบ 6 เป้าประสงค์

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ประจำปี 2565 ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยผลการดำเนินงานในภาพรวมตามหลักการ Balanced scorecard ได้คะแนนถึง 4.76 จากคะแนนเต็ม 5 (เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ได้ 4.61 คะแนน) และมีผลการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลโดยได้คะแนนเฉลี่ย 9.67 จากคะแนนเต็ม 10 (เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่ได้ 9.25 คะแนน) และได้ตะแนนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ 93.25 คะแนน อยู่ในระดับ A (ได้คะแนนสูงกว่าผลประเมินภาพรวมระดับประเทศที่ผลคะแนนเฉลี่ย 81.25 คะแนน)

IMG_20230829143105000000.JPG

รายงานประจำปี 2565 ของกองทุนฯ ของผลการดำเนินงานตามเป้าประสงค์ 6 ประการ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ลดปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ เช่น 1.พัฒนาองค์ความรู้ประเด็นการควบคุมและป้องกันผลกระทบจากยาสูบ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2.สนับสนุนการปรับปรุง พ.ร.บ. การจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับและการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่รู้สึกตัวจากอุบัติเหตุทางถนน และ 3.พัฒนาลานกีฬาสาธารณะพื้นที่นำร่องใน จ. ตรัง และ จ. ราชบุรี

2. พัฒนากลไกที่จำเป็นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น 1.จัดตั้งศูนย์วิชาการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ซึ่งเป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของประชาชน และ 2.สนับสนุนให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยสามารถช่วยเหลือคนไทยให้สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สิทธิ 799 คน และผ่านการพิสูจน์สิทธิได้รับสถานะเป็นคนไทยอย่างถูกต้อง 452 คน

3. เพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน บทบาทชุมชน และองค์กร ในการพัฒนาสุขภาวะองค์รวม เช่น 1.พัฒนารูปแบบแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้ “โครงการบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน" ในพื้นที่เป้าหมาย คือ อ. แว้ง จ. นราธิวาส หรือ "แว้งโมเดล" ซึ่งมีผู้ป่วยได้รับการดูแล 758 ราย และ 2.สถานประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 80 แห่ง ใน 39 จังหวัด ครอบคลุมพนักงาน 12,425 คนเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวคิดองค์กรสุขภาวะเป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กร ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กร

4. สร้างค่านิยมและโอกาสการเรียนรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น 1.พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะทุกช่วงวัย 3,702 คน ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ และเป็นพลเมืองตื่นรู้ และ 2.พัฒนาโครงการรณรงค์การสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เช่น โครงการรณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า โครงการรณรงค์ฝุ่น PM2.5 และโครงการณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสร้างแนวโน้มให้ประชาชนอยากปรับเปลี่ยนหรือตั้งใจปรับพฤติกรรมร้อยละ 91

5. ขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาวะระดับชุมชน 2,018 โครงการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 302,787 คน เช่น โครงการ "สายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค" ร่วมผลิตอาหารปลอดภัยแก้ไขปัญหาสุขภาวะในชุมซน ที่เทศบาลเมืองกระบี่ อ. เมือง จ. กระบี่

6. เพิ่มสมรรถนะระบบบริการและระบบสนับสนุนในการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น 1.พัฒนาทีมหมอครอบครัว ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ให้มีรูปแบบบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อที่สร้างความรอบรู้สุขภาพให้ผู้ป่วย และ 2.พัฒนาแอปพลิเคชัน "Fun D" ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและความรู้การดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก


ครม. รับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 63 และ 64 โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 และ 2564 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยแนวโน้มสถานการณ์เด็กและเยาวชน พบว่า โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชน (อายุ 0-25 ปี) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีจำนวน 20.18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30.49 จากประชากรทั้งประเทศ 66.19 ล้านคน และปี 2564 มีจำนวน 19.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.81 จากประชากรทั้งประเทศ 66.17 ล้านคน ซึ่งปี 2564 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดลดต่ำจนน้อยกว่าอัตราการตายเนื่องจากแนวโน้มสภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงเกิดจากผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง

IMG_20230829143102000000.JPG

สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชน แบ่งตามประเภทของเด็กและเยาวชน 6 กลุ่ม สรุปได้ดังนี้

1. ช่วงเด็กปฐมวัย 0-6 ปี เช่น น้ำหนักทารกแรกเกิด โดยในปี 2563 มีจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 42,756 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52 จากทารกเกิดมีชีพ 449,220 คน และในปี 2564 จำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 40,098 คน คิดเป็นร้อยละ 9.87 จากทารกเกิดมีชีพ 406,345 คน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563

2. ช่วงเด็กวัย 7-12 ปี เกิดภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียน โดยในปี 2563 จำนวน 575,442 คน (จากการสำรวจเด็กวัยเรียน 4.51 ล้านคน) และในปี 2564 จำนวน 456,747 คน (จากการสำรวจเด็กวัยเรียน 4.09 ล้านคน) เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์และปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 ส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารที่โรงเรียนและการเคลื่อนไหวร่างกายตามประสาวัยเด็กอาจเป็นส่วนทำให้มีจำนวนโรคอ้วนในเด็กมากขึ้นได้

3. ช่วงเยาวชน 13-17 ปี พบสภาพการณ์ความขัดแย้งภายในครอบครัวและโรงเรียนจากการแสดงออกทางการเมือง ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพการแบ่งรุ่น แบ่งวัย และความต่างทางความคิดอย่างชัดเจน รวมถึงปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาการใช้สื่อออนไลน์โดยเฉพาะการติดพนันออนไลน์ที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น

4. ช่วงเยาวชน 18-25 ปี ถูกปลดออกจากงานและเผชิญกับปัญหาการว่างงานหลังเรียนจบ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการสำรวจในช่วงต้นปี 2563 พบว่า คนในช่วงอายุ 15-24 ปีถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลกและเป็นกลุ่มประชากรที่ตกงานมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ โดยในปี 2564 มีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน

5. เด็กและเยาวชนที่ต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น เด็กพิการ โดยไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่พิการในปี 2563จำนวน 153,708 คน (จากประชากรเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ 19.21 ล้านคน) และในปี 2564 จำนวน 151,163 คน (จากประชากรเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ 19.73 ล้านคน) ซึ่งเด็กและเยาวชนที่พิการส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้เข้าเรียน และเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 พบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ การขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในครอบครัว

6. เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ โดยเด็กและเยาวชนไทยได้รับรางวัลจากการแข่งขันทางวิชาการระหว่างประเทศ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ) และได้รับเหรียญจากการเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย (นักวีลแชร์เรซซิ่งและนักกอล์ฟ)

“บทสรุปและวิเคราะห์ในเชิงข้อเสนอด้านนโยบายในภาพรวม เช่น ไทยยังขาดระบบการรวบรวมข้อมูลด้านงบประมาณและไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบและกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและวิเคราะห์แนวโน้มของการใช้งบประมาณ และการออกกฎหมายเชิงป้องกันภัยแก่เด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน โดยหน่วยงานทางด้านกฎหมายต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายจัดการเอาผิดกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมีแนวโน้มเป็นภัยอันตรายต่อเด็กและเยาวชน” ทิพานัน กล่าว


ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาโซนนิ่งพื้นที่ให้ตั้งสถานบริการซึ่งเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมงในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 29 ส.ค. 66 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง

ทั้งนี้ เพื่อให้การตั้งสถานบริการในท้องที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันจะเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในจังหวัดระยอง สอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก

IMG_20230829143055000000.JPG


ชสำหรับเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) จะตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก มีพื้นที่รวมประมาณ 2,662 ไร่ ซึ่งจะสามารถจัดตั้งกิจกรรมสันทนาการที่เข้าข่ายสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และพื้นที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการจำหน่ายและช่วงเวลาการจำหน่าย และจะอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและกำกับดูแลความสงอย่างเคร่งครัด

ไตรศุลี กล่าวว่า การออกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้จะสอดรับกับที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเรื่องกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา กล่าวคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะกำหนดพื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบริการภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินให้ชัดเจน ส่วนกฎกระทรวงฯ จะเป็นการอนุญาตให้สถานบริการที่ตั้งในพื้นที่ที่กำหนดนี้สามารถเปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพเมืองการบินภาคตะวันออก สามารถรองรับนักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการสนามบินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยรวมด้วย