การอภิปรายของรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยให้เห็นความฉ้อฉลของรัฐไทยในเรื่องการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันก็เห็นความก้าวหน้าของการปราบปราม แม้ตำรวจที่นำปราบสุดท้ายจะอยู่ไม่รอดในประเทศไทย อะไรเป็นปัจจัยให้ไทยต้องแสดงท่าทีการปราบ จับกุมนายหน้าค้ามนุษย์แล้ว ชาวโรฮิงญา บังคลาเทศ เหล่านั้นมีชะตากรรมเช่นไร
- การอภิปรายของรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล (18 ก.พ.2565) เปิดเผยให้เห็นความฉ้อฉลของรัฐไทยในเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกให้ความสนใจ และได้สร้างกลไกทางเศรษฐกิจบังคับทางอ้อมให้รัฐต่างๆ จัดการปัญหาเรื่องนี้ผ่านกลไกหลัก 2 อันคือ
1. IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าประมงใหญ่ที่สุดในโลก จะออก ‘ใบเหลือง’ ให้กับประเทศที่มีปัญหาค้ามนุษย์ หากไม่ปรับปรุงตามคำแนะนำจะให้ ‘ใบแดง’ และอียูจะบอยคอตสินค้าประมงจากประเทศนั้น
2. TIP (Trafficking in Persons) report ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดระดับ Tier1, Tier2, Tier2 Watch list, Tier 3 แบ่งเกรดประเทศที่จัดการปัญหาค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐาน, ประเทศที่ยังมีปัญหาแต่พยายาม, ประเทศที่มีปัญหาแต่พยายามไม่พอ ต้องจับตา, ประเทศที่ปัญหารุนแรงและไม่จัดการ
- อุตสาหกรรมประมงของไทยมีมูลค่าสูงปีหนึ่งๆ กว่าแสนล้านบาท การได้ใบเหลือง การถูกจัดชั้นใน Tier ต่ำๆ ย่อมมีผลต่อการส่งออก ดังนั้น เมื่อโลกบีบ รัฐบาลก็ต้องรีบแก้ปัญหาให้โลกเห็น
- อันที่จริง ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องค้ามนุษย์มายาวนาน มันแตกต่างจากการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย มาหางานทำของแรงงานต่างชาติ เพราะนิยามตามกฎหมายการค้ามนุษย์นั้นต้องมีเจตนา มีการข่มขู่บังคับ กระทั่งการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ให้ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ใช่ความสมัครใจของผู้ถูกกระทำ เหยื่อค้ามนุษย์ในไทยมักจะถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสหากรรทางเพศ อุตสาหกรรมประมง ฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ กระทั่งแก๊งค์ขอทานข้างถนน บทลงโทษตามกฎหมายค้ามนุษย์ก็หนักกว่ามาก
- ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหารในไทย ก็พอดีกับที่สหรัฐฯ จัดให้ไทยไปอยู่ Tier3 เป็นครั้งแรก เรียกว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยเลวร้ายสุดขีด ปีต่อมา ยุโรปก็แจกใบเหลือง IUU ให้ไทยซ้ำอีก เหตุที่สถานการณ์ค้ามนุษย์ในไทยเลวร้ายนั้นสัมพันธ์กับสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน
- พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน จากฟอติไฟไรท์ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมายาวนานเล่าว่า ในปี 2555 มีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชาวมุสลิมส่วนน้อยในพม่าและไม่ได้การรับรองสิทธิพลเมืองพากันหลบหนีออกจากประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าระบุว่าชาติตนเองมี 135 กลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่นับรวมโรฮิงญา เป้าหมายของพวกเขาคือ มาเลเซีย โดยจะต้องแวะผ่านประเทศไทยก่อน ส่วนมากมักนั่งเรือมาลงที่ระนอง สตูล
- ประเทศไทยมี ‘แผนพิทักษ์อันดามัน’ ซึ่ง พล.ท.มนัส คงแป้น (จำเลยหลักในคดีค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดและเสียชีวิตไปแล้ว) ก็ร่วมดูแลอยู่เพื่อจับพวกนายหน้าค้ามนุษย์และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เหยื่อก่อนพยายามผลักดันออกไป เมื่อจำนวนผู้ต้องการเดินทางแสวงหาชีวิตใหม่มีมากขึ้น และยอมจ่ายค่าหัวหลักหลายหมื่นบาทเพื่อผ่านทางให้ได้ ขบวนการค้ามนุษย์ก็เริ่มเฟื่องฟู บูรณาการกันหลายภาคส่วนดังที่เห็นในข่าวและการอภิปราย ทั้งนี้ ในการสืบพยานในศาลในคดีค้ามนุษย์ พล.ท.มนัสได้ให้การเกี่ยวกับแผนพิทักษ์อันดามันด้วยและเป็นการพิจารณาคดีลับ เนื่องจากเป็นประเด็นความมั่นคง
- ศิววงศ์ สุขทวี ระบุในบทความที่ลงประชาไทว่า สำนักงานข้าลวงใหญ่ประเมินว่าจำนวนคนที่ออกมาจากชายฝั่งระหว่างมิถุนายน 2555 จนถึงสิ้นปี 2557 มีราว 83,000 คน และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 มีคนเดินทางออกมาเพิ่มอีก 31,000 คน ทั้งชาวบังคลาเทศ, ชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศและชาวโรฮิงญาจากเมียนมา ออกมาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งไปหางานทำ ไปหาญาติหรืออนาคตในมาเลเซีย หนีความรุนแรง ความอดอยาก รวมถึงบางคนก็ถูกหลอกถูกบังคับให้ขึ้นเรือมาเพื่อจะเอาไปขายเป็นแรงงานต่อทั้งในไทยและมาเลเซีย
- การจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ที่มีทหารระดับนายพลเกี่ยวพันเมื่อปี 2558 และศาลตัดสินใจลงโทษหนักในปี 2560 ทำให้ไทยหลุดจาก Tier3 ที่จมอยู่ 2 ปีติดต่อกัน (2557-2558) มาเป็น Tier2 Watch list แล้วขึ้นสู่ Tier 2 ปกติตามลำดับ โดยรัฐบาลพยายามปรับปรุงกฎหมายทั้งระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายรองหลายฉบับเพื่อดูแลเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย ก่อนที่ตกสู่ระดับ Tier 2 Watch list อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปและขบวนการค้ามนุษย์เริ่มมีให้เห็นปรากฏตามข่าวอีกในปี 2564
- รังสิมันต์ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในช่วงปี 2558 พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในตอนนั้นทำคดีค้ามนุษย์อย่างยากลำบากเพราะถูกขัดขวางจากคนในกันเอง จนกระทั่งส่งสำนวนให้อัยการได้ 99 แฟ้ม มีกระดาษ 271,300 แผ่น ออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 155 ราย ล่าสุด จับกุมตัวและส่งฟ้องได้แล้ว 120 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย กลายเป็นคดีระดับประเทศ แต่ดูเหมือน พล.ต.ต.ปวีณไม่ยอมหยุดการสืบสวนต่อ จนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะ ต้องสั่งย้ายเขาไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบกับมีทหารระดับสูงที่ใกล้ชิดราชวงศ์ติดต่อให้เข้าทำงานในหน่วยงานส่วนพระองค์ ทั้งหมดทำให้พล.ต.ต.ปวีณ รู้สึกไม่ปลอดภัย ตัดสินใจลาออก และลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย ทั้งนี้ รังสิมันต์ได้อภิปรายโดยอ้างอิงข้อมูลทั้งหมดจากเอกสารขอลี้ภัยที่ปวีณยื่นต่อทางการออสเตรเลีย
- ในอีกด้านหนึ่ง พุทธณีเล่าว่า เหยื่อการค้ามนุษย์ในช่วงเวลานั้นมีเกือบพันคน ราวครึ่งหนึ่งเป็นชาวบังคลาเทศที่รัฐไทยส่งกลับประเทศต้นทาง อีกครึ่งเป็นชาวโรฮิงญาที่ไม่อาจส่งกลับได้ เนื่องจากหนีภัยความตายมาจากเมียนมา ครั้นจะส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซียที่พวกเขาอยากไป รัฐก็ทำไม่ได้เพราะทั้งไทยและมาเลซียไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เรียกง่ายๆ ว่า ไม่ใช่ประเทศที่จะต้อนรับผู้ลี้ภัย เป็นเพียงประเทศระหว่างทางที่ให้ที่พักพิงระหว่างรอ UNHCR จัดการส่งต่อไปยังประเทศปลายทางที่เปิดรับ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เป็นต้น
- พุทธณีเล่าว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านั้นถูกส่งไปยังบ้านพักต่างๆ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างรอเดินทางไปยังประเทศที่ 3 ขณะที่บางส่วนก็ถูกกักตัวอยู่ตามสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
- สภาพของบ้านพักของ พม.ไม่ได้เหมาะสำหรับอยู่อาศัยระยะยาว ขณะที่สถานกักตัวของ ตม.นั้นไม่ต่างจากคุก บางแห่งมีที่ให้ออกกำลังกาย แต่หลายแห่งมีปัญหาแออัดอย่างยิ่ง ฟอติไฟไรท์ระบุถึงกรณีของเด็กหญิงชาวโรฮิงญาวัย 16 ปีรายหนึ่งที่ถูกกักตัวอยู่ ตม.เป็นเวลาราว 2 ปี เธอเป็นมะเร็งเม็ดเลือด แม้ได้รับการส่งต่อไปรักษายัง รพ.แต่ก็เป็นช่วงท้ายๆ แล้ว สุดท้ายเธอเสียชีวิต
- อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญาชุดนั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ ทยอยเดินทางไปยังประเทศที่ 3 จนชุดสุดท้ายเดินทางไปเมื่อปี 2563 นั่นเท่ากับว่าเขาต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักเพื่อรออยู่ราว 5 ปี
- พุทธณีกล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะพยายามพัฒนากฎหมายเพื่อดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และจ่ายเงินจากกองทุนให้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย และยังต้องการการพัฒนาปรุงปรุงมากขึ้นในระยะยาว เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น
อ้างอิง :
https://www.state.gov/wp-content/uploads/2021/09/TIPR-GPA-upload-07222021.pdf
https://2009-2017.state.gov/documents/organization/226849.pdf
https://www.state.gov/reports/2018-trafficking-in-persons-report/thailand/
https://www.refworld.org/docid/51c2f3824d.html
https://www.bbc.com/thai/thailand-50244551
https://prachatai.com/journal/2017/07/72540
https://www4.fisheries.go.th/dof/service_item/7/0/16/0
https://ccpl.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/4/2020/01/article_20190329093000.pdf
https://www.opsmoac.go.th/km-km_article-files-401591791793