ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายชี้ กระแสข่าว 'เกมท้าฆ่าตัวตาย' Momo Challenge ในหมู่เยาวชนที่อังกฤษและอีกหลายประเทศ 'ไม่ใช่เรื่องจริง' แต่การที่สื่อรายงานข่าวนี้อย่างต่อเนื่องอาจกระตุ้นให้เกิดอุปาทานหมู่ในกลุ่มเสี่ยง

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานข่าว สำนักงานตำรวจไอร์แลนด์เหนือประกาศเตือนภัยแก่ผู้ปกครองในประเทศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เฝ้าระวังและตรวจสอบการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเด็กในปกครองว่าตกเป็นเป้าหมายของเกมท้าฆ่าตัวตาย Momo Challenge หรือไม่ โดยระบุว่า การปล่อยให้บุตรหลานท่องโลกไซเบอร์เพียงลำพัง ไม่ต่างกับการปล่อยให้เด็กเดินในดงกับระเบิด และอาจทำให้เด็กได้รับการยั่วยุให้ทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เดอะการ์เดียนได้รายงานข่าวเกม 'โมโมแชลเลนจ์' โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของตัวแทนสมาคมสะมาริตันส์ องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เป็นผู้ให้บริการรับฟังและให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในอังกฤษ ซึ่งยืนยันว่า กระแส Momo Challenge เป็นแค่ 'ข่าวลวง' 

เช่นเดียวกับบีบีซีที่รายงานเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า แท้จริงแล้วเกมโมโมแชลเลนจ์เป็นเกมของแฮกเกอร์ที่ต้องการล้วงข้อมูลส่วนบุคคลผ่านสื่อออนไลน์ เพราะการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่อ้างอิงในการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ รวมถึงข้อมูลของตำรวจไอร์แลนด์เหนือ ไม่พบหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ามีเยาวชนทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายเพราะเกมดังกล่าวจริง แต่การรายงานข่าวว่าเกมเป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายจะยิ่งส่งผลให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไปสืบค้นข้อมูลเรื่องเกมนี้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย.2561 เว็บไซต์ฟ็อกซ์นิวส์และเดอะวอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ เคยรายงานถึงกระแสเกมท้าฆ่าตัวตาย โมโมแชลเลนจ์ มาก่อนแล้ว โดยอ้างอิงการรายงานของสื่อในอาร์เจนตินาที่ระบุว่าเด็กวัยรุ่นหญิงและชาย อายุตั้งแต่ 12-16 ปี รวม 3 ราย ในอาร์เจนตินาและโคลอมเบีย ฆ่าตัวตายหลังจากเล่นเกม 'โมโมแชลเลนจ์' พร้อมบรรยายว่าเกมดังกล่าวเริ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แอปพลิเคชัน 'วอทซ์แอพ' โดยผู้ที่เล่นเกมจะได้รับคำท้าจากผู้ส่งข้อความในนามโมโม ซึ่งเป็นตัวละครเด็กผู้หญิงผอมบาง ผมยาว ตาโปนและหน้าแหลมผิดรูป ส่วนผู้ที่เล่นเกมก็จะต้องทำตามคำท้าต่างๆ ซึ่งรวมถึงการทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือการทำในเรื่องที่ไม่ปกติ 

เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า ไม่พบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงเรื่องเกมโมโมแชลเลนจ์กับการฆ่าตัวตายของเยาวชนที่นอกเหนือไปจากการรายงานข่าวของสื่ออาร์เจนตินา และภาพที่ระบุว่านำมาจากแอปฯ สนทนาของผู้ตาย แต่หลังจากเดอะวอชิงตันโพสต์สืบสวนไปยังที่มาของภาพตัวละครโมโม พบว่าเป็นงานศิลปะชื่อว่า Mother Bird ของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เผยแพร่ผลงานดังกล่าวในแกลลอรี่แห่งหนึ่งที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2016 และภาพผลงาน Mother Bird ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ของแกลลอรี่ และมีผู้นำภาพดังกล่าวไปสร้างตัวละครในเกมโมโมแชลเลนจ์

IG-SFXATLAS-momo challenge-โมโมแชลเลนจ์-โมโมชาเลนจ์.JPG
  • ผู้ใช้อินสตาแกรมเผยแพร่ภาพเต็มของผลงานศิลปะ Mother Bird ซึ่งถูกนำไปสร้างเกมโมโมชาเลนจ์

สื่อออสเตรเลียรายงานว่า มิโดริ ฮายาชิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น เป็นผู้สร้างงาน Mother Bird แต่ฮายาชิระบุในบัญชี IG ของตัวเองว่า เจ้าของผลงานดังกล่าวคือ เคสุเกะ ไอซาวะ พร้อมย้ำว่าเธอไม่เกี่ยวข้องกับเกมดังกล่าว และไม่ทราบว่าผู้นำภาพผลงานไปใช้คือใคร แต่การรายงานข่าวเกมโมโมแชลเลนจ์รอบแรกทำให้หน่วยงานรัฐในหลายประเทศ เช่น แคนาดา อินเดีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ประกาศเตือนผู้ปกครองให้เฝ้าระวังและกำกับดูแลการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของตน

ข่าวนี้เงียบหายไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากตำรวจไอร์แลนด์เหนือออกคำเตือนเรื่องเกมดังกล่าวรอบใหม่

อย่างไรก็ตาม องค์กรป้องกันการฆ่าตัวตายสะมาริตันส์และศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตในอังกฤษ USIC ยืนยันว่ากระแสข่าวที่กล่าวว่าเยาวชนฆ่าตัวตายเพราะเกมดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมย้ำว่า การที่สื่อโหมรายงานข่าวนี้อาจจะส่งผลให้เกิดอุปาทานหมู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองอยู่แล้ว

สะมาริตันส์และยูเอสไอซีย้ำว่า สื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ควรจะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้ที่ต้องการคำปรึกษา ให้ติดต่อองค์กรวิชาชีพ หรือสมาคมให้คำปรึกษาต่างๆ แทนที่จะรายงานแต่เรื่องตื่นตระหนกเร้าอารมณ์และทำให้รู้สึกหวาดกลัวเพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสะมาริตันส์ยังย้ำด้วยว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เกิดจากสภาพจิตใจและอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว แต่คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวอาจไม่ได้สังเกตหรือตระหนักถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น การรายงานว่าเกมเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการป้องกันหรือเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้มุ่งไปที่สาเหตุที่แท้จริง

ในส่วนของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 รวมถึงเปิดให้บริการคำปรึกษาทางเพจเฟซบุ๊ก ขณะที่สมาคมสะมาริตันส์ในไทยก็เปิดให้บริการรับฟังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่เบอร์ 02-713-6793 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.

ที่มา: BBC/ Forbes/ Fox News/ The Guardian/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: