ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นครั้งแรก ที่ศาลฎีกาเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัย ขยายคำจำกัดความของ "การคุกคาม" ให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการโทรจิกซ้ำๆ แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้รับสายก็ตาม

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ มีคำตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลแขวงปูซาน ที่ก่อนหน้านี้ พิเคราะห์แล้วไม่เห็นว่า พฤติกรรมการโทรซ้ำๆ เพื่อทิ้งสายที่ไม่ได้รับไว้เป็นจำนวนมาก เข้าข่ายเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามบุคคล

คำวินิจฉัยล่าสุด ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน อย่างสมาคมทนายความสตรีเกาหลี ที่มองว่า จะส่งเสริมให้การบังคับใช้ 'กฎหมายต่อต้านการติดตามรังควานบุคคลอื่น (anti-stalking law)' ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2021 เพื่อปกป้องเหยื่อที่ถูกคุกคามด้วยการสะกดรอยตามมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายลักลอบติดตามหรือมีพฤติกรรมคุกคามรังควานชีวิตบุคคลอื่น จะต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือจ่ายค่าปรับ 30 ล้านวอน หรือเกือบ 8 แสนบาท

คำตัดสินของศาลสูงสุดเกาหลีใต้เกิดขึ้น หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อน ในคดีของอดีตคู่รักชายหญิงคู่หนึ่ง ฝ่ายชายคอยโทรหาฝ่ายหญิงย้ำๆ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนหลังเลิกรากัน แม้ฝ่ายหญิงจะบล็อกเบอร์ไปแล้ว แต่เขาก็ยังสรรหาสารพัดวิธีในการโทรรังควานอดีตแฟนสาว ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนเบอร์โทรหรือโทรแบบซ่อนเบอร์ และนอกจากโทรหาแล้ว ฝ่ายชายยังส่งข้อความขู่ฆ่า และส่งรูปบ้านพักที่แม่ของฝ่ายหญิงอาศัยอยู่เพื่อข่มขู่ด้วย

ตอนนั้น ศาลแขวงปูซาน ตัดสินให้ชายคนดังกล่าวรับโทษจำคุก 4 เดือน แต่ศาลแขวงและศาลอุทธรณ์ มีความเห็นไม่ตรงกันว่า การโทรจิกซ้ำๆ โดยที่เหยื่อไม่ได้รับโทรศัพท์ เข้าข่ายเป็นการคุกคามหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ มองว่า แค่เสียงโทรศัพท์ที่ดังย้ำๆ และบันทึกแจ้งเตือนสายที่ไม่ได้รับ ไม่สามารถตีความว่าเป็นการคุกคามได้ 

อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาศาลสูงสุด มองว่า คำตัดสินของศาลชั้นต้นในคดีนั้น อาจจะเกิดจากความเข้าใจ "กฎหมายต่อต้านการติดตามรังควานบุคคลอื่น" ผิด เพราะกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงการกระทำพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่มีเหตุอันควร และเหยื่อไม่สมัครใจ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลสูงสุดเกาหลีใต้ จะถูกยึดเป็นบรรทัดฐานสำหรับการพิจารณาคดีของศาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ที่มา : Koreaboo, The Korea Herald