ไม่พบผลการค้นหา
‘อนุทิน’ ยันไม่มีคนป่วยนอนรอเตียงข้างถนน ย้ำไม่ได้ยกระดับแจ้งเตือนให้ตื่นกลัว ระบุอยู่ระดับ 4 มานานแล้ว เผยศบค.ใหญ่เตรียมยกเลิก RT-PCR วันที่ 5 มี.ค.ของนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีภาพข่าวคนติดโควิด-19 นอนรอการช่วยเหลือริมถนน โดยอนุทิน ยืนยันว่าไม่มีภาพผู้ป่วยนอนรอการช่วยเหลือริมถนน ได้มีการตรวจสอบกับอธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยืนยันว่าจำนวนเตียงและโรงพยาบาลทั่วประเทศมีความพร้อม 

เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นจะมีการปรับระดับการให้บริการของสปสช. ในการดูแลประชาชน อนุทิน กล่าวว่า ปรับแล้ว รวมถึงเรื่องยูเซ็ป หรือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการรักษา แต่รักษาตามสมุตติฐานของโรค หากเป็นผู้ป่วยสีเขียว จะใช้ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation หากมีอาการสีเหลืองหรือสีแดงก็จะไดับสิทธิการรักษาในระบบยูเซ็ปที่ได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้เตียงว่างสำหรับผู้ป่วย 

“คนมานอนอยู่ข้างถนนผมก็ดูข่าวไม่ได้อยู่เฉยๆ ปลัดหรืออธิบดี เช็คแล้วเช็คอีกมันไม่มี เพราะเตียงมันยังมีอยู่ ยังไม่ถึงครึ่ง ยาเราก็มีเต็มที่ และโรคนี้เราก็ใช้ระบบ Home Isolation ตอนนี้เน้นให้คนมาฉีดวัคซีนเยอะๆ ซึ่งเข็ม3 ก็ต้องรอเวลาที่ถูกต้อง”

เมื่อถามถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงยกระดับให้เป็นระดับ 4 นั้น อนุทิน ระบุว่า เราปรับระดับมาเป็นระดับ 4 มานานแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในระดับ 5 และปรับลดลงมา ยืนยันว่าไม่ได้เป็นยกระดับ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไปสื่อสารว่าเป็นการยกระดับ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน เหมือนลักษณะที่แพทย์ออกมาเตือน เพื่อไม่ให้ประชาชนมีความเสี่ยง 

เมื่อถามว่าแนวโน้มจะมีการล็อคดาวน์หรือไม่นั้น อนุทิน กล่าวว่า ใจเย็น ประเทศอื่นทั่วโลกกราฟพุ่งสูงกว่าประเทศไทย ซึ่งไทยพยายามทำดีที่สุดโดยการหาทางสายกลาง ขอย้ำว่าโอไมครอนติดง่ายหายเร็ว และความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น แม้กระทั่งขณะนี้จะมีสายพันธ์ุ BA2 ก็จะไม่ส่งผลให้มีอาการรุนแรงไปวก่าโอไมครอนเดิม 

อย่างไรก็ตาม การประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้กรมควบคุมโรคและที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอที่ประชุมศบค.เพื่อให้มาตรการต่างๆอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งจัดอยู่ในวาระปกติ อาจจะมีมาตราการการเข้าประเทศที่อาจจะยกเลิกการตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศในวันที่ 5 มี.ค.เนื่องจากไม่มีความจำเป็น แนวโน้มน่าจะลดลง และการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไม่ได้มาจากต่างประเทศ

'อนุทิน' ลงนามปลด 'โควิด' ออกจาก UCEP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการกำหนดขั้นตอนมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือ UCEP เสนอกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 นำโรคโควิด-19 ออกจาก UCEP ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 เป็นต้นไป ให้คำจำกัดความของโรคโควิด-19 ไว้ว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน กำหนดให้มี UCEP PLUS กรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง หรือมีโรคร่วม จะเข้าเกณฑ์ UCEP PLUS ที่มีอาการวิกฤติฉุกเฉิน เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด สามารถเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ รวมทั้งกรณีผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือศูนย์พักคอย Community Isolation หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้เช่นกัน