ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ และ รมว.สธ. ยันไม่ยกเลิกสิทธิ UCEP รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ภาครัฐพร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ เตือนบริษัทประกันอย่าเลี่ยงบาลี ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาล ถือว่าผิดกฎหมาย

วันที่ 14 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า นายกฯ ได้ติดตามงานและเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจกับนายกฯไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมถึงแม้จะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันด้วยการใช้ระบบ Home Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการให้มากที่สุด และพยายามคัดกรองผู้ที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนกรณีเรื่องของ UCEP (สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต) นั้น อนุทิน กล่าวว่าไม่ใช่การยกเลิก แต่ต้องทำให้โรคโควิด-19 เป็นโรคปกติ ไม่ใช่โรคฉุกเฉิน ถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในสถานพยาบาลทุกที่ ซึ่ง สปสช.จะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือ สามารถใช้สิทธิบัตรทองที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ดังนั้นการที่มีคนไปแปลงคำพูดว่าจะมีการยกเลิก UCEP ไม่จ่าย ไม่ดูแลอันนี้ไม่ใช่ เพียงแต่ว่า ต้องทำให้ระบบการดูแลรักษายังมีอยู่ โควิด-19 ก็ยังเป็นโรคที่สามารถรับมือได้ การรักษาพยาบาลก็ให้เป็นรูปแบบปกติทั่วไป ยืนยันว่าภาครัฐต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแนวทางตามสิทธิที่ทุกคนมีอยู่

ส่วนหากมีการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสิทธิของประกัน ประชาชนจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างด้วยหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินทางรัฐจะดูแล 3 วัน จากนั้นจะต้องส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งก็มีศักยภาพเตียงที่เพียงพอ ไม่ใช่การไปตัดการดูแล ซึ่งเรื่องนี้ สปสช.ได้แถลงข่าวเพื่อชี้แจงแล้ว ขอให้ไปติดตามรายละเอียดในส่วนนั้น

ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองนำเรื่อง UCEP มาเป็นประเด็นและทำให้เกิดความเข้าใจว่ารัฐบาลจะยกเลิกในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้น อนุทิน ย้ำว่า ได้อธิบายไปแล้วว่าไม่ยกเลิกสิทธิ UCEP แต่ต้องปรับให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย ต้องให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันก็เหมือนกับโรคทั่วไป หากมีการไปใช้โรงพยาบาลเอกชนและยินดีจะจ่ายเงินส่วนต่าง ก็ถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนอยู่แล้วหากกังวลว่าประกันชีวิตแบบสุขภาพจะไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล ทางกรมการแพทย์ สปสช. และกรมสนับสนุนบริการทางสุขภาพที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลของประชาชนก็ต้องออกหลักเกณฑ์ให้มีการดูแลประชาชน 

"บริษัทประกันจะมาเลี่ยงบาลีจะไปเอาเปรียบผู้ซื้อประกันไม่ได้เนื่องจากผิดกฎหมาย เพราะประกันภัยเวลาซื้อทราบอยู่แล้วจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงมีการออกแพ็คเกจมาขาย จึงไม่มีทางที่ภาครัฐจะยอมให้เกิดการเลี่ยงบาลี หากมีการขายมีนโยบายออกไปแล้วยังไงก็ต้องรับผิดชอบ" อนุทิน ระบุ