วันที่ 28 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำโดย เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และกิตติศักดิ์ รันตวราหะ เข้าหารือกับ กกต. ในประเด็นปัญหาของการเลือกตั้ง และนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับความไม่ชัดเจนเรื่องทรัพย์สิน และมรดก เพื่อประกอบให้ กกต.ได้พิจารณาร่วมด้วย
เสรี กล่าวว่า ขอให้ กกต. ทำหน้าที่ให้ปรากฎโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ทำไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังไม่ได้ประกาศรับรอง ส.ส. ซึ่งกกต. ได้ไต่สวนหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 และอีกส่วนคือหลังประกาศรับรอง ส.ส. กกต. คงใช้อำนาจหน้าที่ในส่วนที่มีความปรากฎ
ส่วนประเด็นก้าวอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจะเป็นชนวนแห่งรอยร้าวหรือไม่นั้น เสรี ระบุว่า ในมุมมองของตนเป็นการตกลงกันของแต่ละพรรคการเมืองว่า จะตกลงตำแหน่งใดเป็นของพรรคการเมืองใด คงไม่ถึงขนาดแตกแยกรุนแรงทางการเมือง หากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันจะต้องใช้เสียงในสภาฯ ในการตัดสินปัญหา แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งภายในพรรคก็จะเป็นไปตามมติของพรรค
เมื่อถามถึงสเปคว่าที่ประธานสภาฯ ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เสรี กล่าวว่า ขอให้ดูคุณสมบัติการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ คนก่อนๆ ว่า ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นที่เคารพ และน่าเชื่อถือของบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ สิ่งสำคัญคือต้องวางตัวอย่างเหมาะสมการหากมีการแสดงออกในลักษณะที่ก้าวร้าวทำเพื่อประโยชน์พรรคตนเองคงต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสม และสมาชิกสภาฯ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการตัดสินใจได้
เมื่อถามว่า สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เหมาะกับตำแหน่งนี้หรือไม่ เสรี กล่าวว่า สุชาติ มีประสบการณ์มีความสามารถทำงานในสภาฯ มาหลายสมัย ไม่น่าจะติดขัดอะไร ส่วนที่พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธานสภาฯ นั้น ก็เสนอได้เพราะมาจากพรรคการเมืองของแต่ละพรรค การจะเป็นได้ดี หรือไม่ดีต้องดูจากความรู้ความสามารถการวางตัวการแสดงออก หากให้เทียบกับกับ สุชาติ ก็ถือว่าดีกว่า
ส่วนกระแสพรรคการเมืองซื้อ ส.ว. ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นแค่ข่าว เพราะไม่น่ามีใครมาลงทุนกับ ส.ว. ได้ และไม่สามารถที่จะปิดบังอะไรกันได้ เพราะสมัยนี้มีทั้งคลิป หรือการอัดเสียง ใครที่คิดจะทำถือว่า คิดผิดไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะ ส.ว. ทุกคนไม่น่าจะซื้อได้ อยู่ที่เหตุผล และความตรงไปตรงมา
ทั้งนี้จากกรณีที่ พิธา ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า หาก ส.ว. นำ ม.112 มาเป็นปัจจัยในการโหวตเลือกนายกฯ เหมือนเป็นการนำประชาชนมาปะทะกับสถาบันหรือไม่ เสรี กล่าวว่า แค่ข้อเสนอก็ขาดวุฒิภาวะแล้ว สิ่งที่เสนอมาชัดเจนแล้วว่า กระทบกับสถาบันฯ เมื่อ ส.ว. ไม่เห็นด้วยก็เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเอามวลชนมาให้เกิดการปะทะกัน การเป็นผู้นำประเทศหากต้องการให้ตนเองอยู่ในตำแหน่ง ควรเสนออะไรที่สร้างสรรค์ ไม่เกิดความเห็นแตกต่าง