วันที่ 13 ก.ค. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระโหวตเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ในฐานะ ส.ว. มักถูกพูดเสมอว่าจะไม่เลือก พิธา ตามมติมหาชน ต้องทำความเข้าใจในส่วนนี้ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่พี่น้องประชาชนเลือกพรรคการเมืองมาแล้ว แต่การทำหน้าที่ในรัฐสภา เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
“ส.ว. มักถูกสื่อมวลชนถามว่าไม่หวั่นต่อประชาชนหรือไม่นั่น ต้องบอกว่ากลัวมาก แต่ต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่ เพื่อรักษาปกป้องประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นความกลัวที่เกิดขึ้น ทั้งเสียงข่มขู่ ให้ร้าย หรือพูดจาเสียดสี แต่กลัวน้อยกว่าความรู้สึกต่อประเทศและสถาบัน”
เสรี ระบุว่า พรรคก้าวไกลอย่าสำคัญตัวเองผิดว่าได้ 30 ล้านเสียง โดยเสียงที่เหลือเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 10 ล้านเสียง เป็นคะแนนเสียงที่ไม่น้อย แต่พรรคร่วมอื่นไม่ประสงค์เลือก พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการลงคะแนนเลือก แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรี
เสรี ยังกล่าวว่า วุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน แต่การรวบรวมเสียงของ 8 พรรค ร่วมรัฐบาลไม่ใช่เจตนารมย์ของประชาชนที่เลือกมา ไม่อย่างนั้น ส.ว. จะถูกต่อว่าไม่จบ ดังนั้นการทำหน้าที่ของ ส.ว. วันนี้ จะต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่ห้ามถือหุ้นสื่อ หากยังมีความคิดหรือดำเนินการตามมาตรา 159 โดยไม่คำนึงถึงเรื่องคุณสมบัติเท่ากับทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ยังยืนยันในหลักการสำคัญ ว่าการจะทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศจะต้องมีการกระทำที่ไม่ดูหมิ่นสถาบัน จึงเกิดข้อคำถามย้อนกลับไปว่า ม.112 เหมาะสมที่จะแก้ไขหรือไม่
“การแก้ ม.112 เป็นเพียงการแสดงเจตนาในการแก้กฎหมายแต่สิ่งที่ ส.ว. เกือบทั้งหมดตระหนักและรู้คิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเมืองก่อนแก้ ม.112 ไม่ใช่เพื่อ การกลั่นแกล้งทางการเมือง”
โดยนายกรัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชน แต่ที่ผ่านมา ส.ว. ทนอยู่เนื่องจาก ต้องการปกป้องบ้านเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ผ่านมาเกิดการส่งเสริมแนวคิดให้เด็กและเยาวชน ไปในแนวทางที่ผิด ให้เกิดการกระทำละเมิดจาบจ้วงสถาบันมากมาย เช่น ปรากฎตามสื่อและคลิปวิดีโอมากมาย แทนที่จะลดความผิดแต่กลับเป็นการยุยงส่งเสริม เพียงเพื่อต้องการมวลชน ทั้งนี้ ยังไม่เคยเห็น พิธา ออกมา ปกป้องหรือห้ามปรามในสิ่งเหล่านี้ แต่นอกจากไม่ห้ามปรามแล้วยังส่งเสริม
“ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการล้มล้าง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะให้ส.ว.เอง ไปสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือบริหารประเทศนั้นจะเป็นการผิดวิสัย หากผมพูดแล้วท่านอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี และลุกขึ้นมาพูดว่าจะไม่แก้ไข ม.112 อยากพูดก็พูดมาแต่ผมไม่เชื่อ เพื่อต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคิดว่าเป็นการหลอกลวง“
“ถ้าหากได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนจนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ผมก็ยินดี แต่ถ้าหากว่าเสียงไม่ถึงก็ต้องกราบเรียนด้วยความเคารพว่า ท่านจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมการกระทำใดที่จะไปปลุกม็อบ ไปเรียกร้องดำเนินการใดๆ ให้คนในประเทศนี้ออกมา ผลักดันให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี”
ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงกรณี เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า พิธา ออกไปลงพื้นที่ มีประชาชนเข้ามากราบเท้า เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
พิธา กล่าวว่า ตนเองก็เห็นด้วยว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะเชื่อในหลักการคนเท่ากัน ไม่จำเป็นจะต้องกราบเท้ากัน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา แม้จะได้รับคำอธิบายว่าเป็นการบนบานศาลกล่าว
ส่วนข้อกล่าวหาปลุกปั่นยุยงคนรุ่นใหม่ พิธา กล่าวว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ปัจจุบันไม่สามารถยุยงใดๆ ได้ เพราะเขาเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนรุ่นเรา หากการชักจูง หรือโฆษณาชวนเชื่อ ค่านิยม 12 ประการที่เคยมีมา ก็คงทำเช่นนั้นได้ แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงต้องเข้าใจความแตกต่างของเยาวชนรุ่นใหม่กับรุ่นของตนเอง
ขณะที่ข้อกล่าวหาใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัว พิธา ย้ำว่า สิทธิในการประกันตัวและการเข้าถึงทนายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าคดีของพี่น้องชาติพันธุ์ หรือคดีทวงคืนผืนป่า ถูกฟ้องไล่ที่ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ก้าวไกล ในการใช้ตำแหน่งประกันตัว รักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการเข้าถึงทนาย และสิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด