ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พรรคก้าวไกล ยก 5 เหตุผลที่รัฐสภาควรเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน ชี้มุ่งยุติกลไกสืบทอดอำนาจ ไม่จำยอมต่อการผูกขาด เปิดให้พิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ ได้

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เผยเหตุผล 5 ข้อ ทำไมรัฐสภาจึงควรเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน" หรือที่ถูกเสนอโดย 'ไอลอว์' โดยเนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า 

1. เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเสนอโดยประชาชนถึง 98,041 คน เกือบ 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด (50,000 คน)

ว่ากันตามตรง จำนวนที่มากมายขนาดนี้ ใครที่เคยผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาย่อมรู้แก่ใจดีว่านี่ไม่ใช่จำนวนที่จะรวบรวมกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะกับภาคประชาชนที่ช่วยกันทำขึ้นมากันเอง สภาย่อมไม่ควรจะดูแคลนว่าเป็นเพียงสัดส่วนไม่เท่าไหร่หากเทียบกับเสียงที่โหวตเก้าอี้ของตนเองมา หากเราจดจำได้ถึงเส้นทางการล่ารายชื่อตลอดมาจะพบว่า ภาคประชาชนชุมนุมมานานนับหลายเดือน ตั้งแต่ต้นปีนี้มาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม พวกเขาใช้แรงกายแรงใจอย่างมากในการรวบรวมรายชื่อให้ได้มากมายขนาดนี้

และมันสะท้อนว่าพวกเขาต้องการให้รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้มากเพียงใด รัฐสภาจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปฏิเสธการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้

2. เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งยุติกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

ทั้งการกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น, แก้ไขให้ ส.ว., ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ กลับไปมีความยึดโยงประชาชนมากขึ้น, ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามแบบ คสช. ที่ใช้ครอบงำการทำงานของรัฐบาล, ยกเลิกการเว้นความรับผิดในประกาศและคำสั่งของ คสช. เพื่อฟื้นฟูความเป็นนิติรัฐให้กลับคืนมาบ้าง

3. เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด

ด้วยโครงสร้าง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ไม่มีเศษเสี้ยวใดที่มาจากการสรรหาแต่งตั้ง จะเน้นย้ำทำให้รัฐธรรมนูญนั้นเข้าใกล้การสะท้อนเสียงความต้องการของประชาชนได้มากที่สุดและเป็นการให้เกียรติ "การเลือก" ของประชาชนได้มากที่สุด

4. เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดให้พิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีการโหมกระแสด้านลบมากมายเหลือเกินจากบุคคลทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชน และที่เป็นผู้แทนของประชาชน ว่าถ้าหากเกิดการเปิดให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว จะทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นในสังคม ซึ่งผมไม่อาจจะเห็นด้วยได้

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ออกมาโหมกระแสด้านลบเช่นนี้ คงจะลืมกันไปหมดเสียแล้วว่าหมวด 1 และหมวด 2 ล้วนเคยมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น แต่น่าเสียดาย ที่สมาชิกรัฐสภาบางท่านกลับไม่เอะใจเลยว่า แต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมวดนี้ ก็มาจากรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารทั้งสิ้น

นั่นหมายความว่า ถ้าประชาชนอยากให้แก้ไขเพิ่มเติมในทั้งสองหมวดนี้นั้น ทางเดียวที่พวกเขาจะทำได้ คือ ต้องจับปืน มีกองทัพ และกระทำการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วจึงจะได้อำนาจในการเขียนใหม่เช่นนั้นหรือ?

เช่นนั้นแล้วสภาจะมีเอาไว้ทำไม? มีเอาไว้ให้เผด็จการเป็นอีแอบแล้วสูบกินระบอบประชาธิไตยไปเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งก็ย้อนกลับมาทำรัฐประหารเช่นนั้นหรืออย่างไร? ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ตำแหน่งผู้แทนราษฎรของพวกท่านจะมีเอาไว้ทำไมกัน มีเอาไว้แค่เป็นตรายางให้รัฐบาลเผด็จการ?

รัฐสภาต้องยืนยันว่าตัวเองมีอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนและตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนในประเทศได้ไม่ด้อยไปกว่าคณะรัฐประหาร ดังนั้น การรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนจึงเป็นการกระทำที่สำคัญที่สุดที่จะตอบกับประชาชนได้ว่ารัฐสภายังมีประโยชน์ โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องลำบากจ่ายภาษีให้เราแล้ว ยังต้องลงมายังท้องถนนเพื่อสื่อสารกับพวกเราที่เป็นผู้แทนราษฎรอีก

5. เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่จำยอมต่อการผูกขาดอำนาจไว้กับคนกลุ่มเดียว

ในร่างอื่นยังมีความพยายาม "ยอม" ให้กับข้อต่อรอง/เงื่อนไขของฝ่ายที่ผูกขาดอำนาจ เช่นให้ ส.ส.ร. มีส่วนที่มาจากการแต่งตั้ง, ไม่ให้พูดถึงหมวด 1 และหมวด 2 แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมของประชาชนไม่มีการยอมเช่นนั้น ซึ่งการ "ยอม" เช่นนี้ ถือว่าเป็นภาพสะท้อนความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยไทยได้อย่างมาก ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนย่อมเป็นก้าวแรกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ดีกว่าเดิม

6. ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอให้ลองอ่านข้อ 1 ถึง 5 ใหม่อีกรอบครับ

วันอังคารที่ 17 และวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 นี้ จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนเข้ามาด้วย ขอพี่น้องประชาชนทุกท่านโปรดติดตามครับ

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า พรรค พท.จะประชุมกันในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้เพื่อหารือถึงทิศทางในการโหวตทั้ง 7 ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีหลักการที่ขัดหรือแย้งกับจุดยืนของพรรค พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ 

สุทิน กล่าวว่า ท่าที่ของ ส.ว. และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อาจจะไม่โหวตลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์นั้น หากยึดหลักรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ที่ประชาชนเข้าชื่อกันกว่า 1 แสนรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหากพิจารณาเนื้อหาแล้วไม่ถึงขั้นที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ประชุมรัฐสภาก็ควรรับหลักการไปก่อน แล้วนำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ไปปรับแก้ไข ในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ที่จะพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งจะมีผลช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองภายนอกสภา ช่วยคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง

ด้าน ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าร่างของภาคประชาชนหรือที่เรียกว่าร่างไอลอว์ มีทั้งหมด 11 ประเด็น มีรายละเอียดในการแก้ไขรายมาตราอยู่หลายมาตรา และการตั้ง ส.ส.ร.ก็มีความแตกต่างกับร่างของฝ่ายค้านและของรัฐบาล ซึ่งพรรคจะมีการประชุมวันที่ 16 พ.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อหารือในรายละเอียดต่างๆ


อ่านข่าวอื่นๆ :