ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญ นัด ‘ก้าวไกล’ ฟังคำวินิจฉัย คดีใช้นโยบายแก้ไข ม.112 หาเสียงเลือกตั้ง วันที่ 31 ม.ค. เวลา 14.00 น.

วันที่ 25 ธ.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบปะชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรค 1 หรือไม่

โดย ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 2 ปาก คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ชัยธวัช ตุลาธน โดยตอบข้อชักถามของศาล และของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน ศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.30 น. รวมทั้งนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น. 


ยันศาลเข้าใจเจตนาไม่ล้มล้างการปกครอง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ 

ชัยธวัช กล่าวด้วยความมั่นใจว่า ศาลเข้าใจในเจตนาว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง อีกทั้งเวลา 2 ชั่วโมงกว่าที่ได้ชี้แจง ไม่มีอะไรคาใจ และก่อนหน้านี้ได้ทำคำชี้แจงมาก่อน แต่วันนี้คือเดินทางมาตอบคำถามทุกประเด็น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำถามที่หลากหลาย แต่ไม่สามารถพูดได้เพราะรอบระหว่างตนกับ พิธาไม่ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งต้องรอศาลวินิจฉัย วันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น.

ส่วนความมั่นใจหลังจากที่ศาลนัดไต่สวน เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะไม่ถูกตัดสิทธิ์ ชัยธวัช เผยว่า เรายังเชื่อมั่นการเสนอร่างแก้ไข ม.112 รวมถึงกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาท รวมทั้งทุกกฏหมาย มั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะการเสนอร่างใดๆ ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งจะต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาฯ และกรรมธิการ (กมธ.) ในการคัดกรองพิจารณาเนื้อหา รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบความชอบก่อนที่ร่างกฎหมายจะผ่านระบบสภาและประกาศใช้ ต้องมีการตรวจสอบตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างกฎหมายไม่สามารถล้มล้างการปกครองได้

พิธา.jpg

ด้าน พิธา กล่าวถึงส่วนข้อเสนอที่ให้มีการแก้ไขในเรื่องนิติบัญญัติว่า ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่เสนอ เพราะในยุคของ นายกฯ อภิสิทธิ์ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เสนอให้มีการแก้ไขเช่นกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี 2563-2564 พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการ รวมทั้งสื่อมวลชนก็มีการแสดงความคิดเห็นรอบด้าน ยืนยันว่าเจตนาการดำเนินการและรายละเอียดไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ส่วนจะมีโอกาสได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่นั้น ไม่ว่าใครจะทำงานกับพรรคก้าวไกล ทุกคนจะปฎิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. ตนไม่ได้ยึดติดอะไร เราสามารถทำงานการเมืองต่อได้ 

“นโยบายแก้ไข ม.112 ไม่ใช่นโยบายที่เกิดจากการหาเสียงครั้งที่แล้ว และเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็นชุดใหม่ยังไม่มีการหารือหรือพูดคุยกับพรรคอื่นว่าปัจจุบันอนาคตจะเป็นอย่างไร” พิธา กล่าว

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือให้ยุตติยกเลิกนโยบายแก้ไข ม.112 จะกระทบจุดยืนของพรรคก้าวไกลหรือไม่ พิธา กล่าวว่า ต้องรอให้คำพิพากษาออกมาก่อน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์แตกต่างจาก ปี 2564 การเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง มีผู้ต้องหาคดี ม.112 เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย เราจึงมองทางสายกลางเป็นทางออกของการเมือง ในระบบยุติธรรมว่าเรื่องสัดส่วน ถ้ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพจะต้องมีสัดส่วนของรัฐสภาที่มีข้อบังคับ และยังมีองค์ประกอบหลายเรื่อง

การไต่สวนสองครั้งในชั้นศาล อยากให้ประเมินตัวเองว่า 100% จะได้กี่ % ถึงสามารถกลับมาเป็น สส. ได้ พิธา ย้ำว่า ไม่ขอตอบเป็นตัวเลข พอใจ คิดว่าได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว และต้องรอคำพิพากษาวันที่ 24 ม.ค. 2567 


 ‘ธีรยุทธ’ รอลุ้นฟังคำตัดสิน

ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบปะชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรค 1 หรือไม่ 

S__17858759_0.jpg

ธีรยุทธ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับคำร้องของตนเองนั้น อยู่ที่จะมีช่องทางใดก็ตามที่จะให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางให้เกิดบ่อนทำลายที่อาจขยายวงกว้างได้ในอนาคต จึงเห็นควรว่าต้องหยุดยั้ง

ซึ่งอำนาจของตนเองหรือประชาชนที่เห็นด้วยในแนวทางนี้ก็มีไม่มากนัก ที่จะสามารถหยุดยั้งได้ แต่ผู้มีอำนาจที่สามารถหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวได้ มีเพียงศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองจึงเลือกช่องทางนี้ในการเข้ายื่นคำร้อง เพื่อให้ได้รับการอนุเคราะห์ในการวินิจฉัย

ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ตนเองไม่มีอะไรติดค้างใจ สำหรับการเข้าไต่สวนพยานบุคคลวันนี้ เนื่องจากศาลก็เป็นเหมือนครูบาอาจารย์ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายอย่างสูง ตนเองก็รอคำวินิจฉัยจากศาล เพราะจะได้ทราบแนวทางไว้เป็นความรู้ที่จะคู่อยู่กับแผ่นดินนี้ไปอีกนาน โดยศาลจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น. 

“สิ่งแรกที่เราวางแผนในตัวเนื้อหา คือ การนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วางหลักการไว้มาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการหาเสียง การชูนโยบาย การเผยแพร่นโยบาย” ธีรยุทธ กล่าว

ธีรยุทธ กล่าวอีกว่า การเผยแพร่นโยบายของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นการเผยแพร่ผ่านทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ หรือช่องทางการสื่อสารที่เป็นช่องทางหลักของพรรคก้าวไกลเอง ประกอบกับมีพฤติการณ์ของสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคก้าวไกล ที่มีลักษณะอาจเข้าข่ายสนับสนุนการแก้ไข หรือการยกเลิก ม.112