วันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปที่จะเกิดขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 82 ว่าตนไม่ทราบรายละเอียด แต่ได้ยินว่ามีคณะทำงานด้านกฏหมายกำลังดำเนินการ
ส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นนี้ได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และ ครม. ก็ยังทำงานต่อไปได้ เนื่องจากศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่น กรณีนายกฯ ป่วย หรือเดินทางไปต่างประเทศ
วิษณุ ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปได้เช่นกัน ขณะที่ ครม. สามารถเปลี่ยนให้รองนายกฯ คนอื่นมารักษาการแทนได้เช่นกัน แต่ตนไม่เห็นเหตุว่าจะต้องสลับทำไม เพราะได้วางลำดับมาตั้งแต่แรกแล้ว และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกฯ มีอำนาจเต็มเทียบเท่านายกฯ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร ก็มีอำนาจยุบสภาได้เช่นกันใช่หรือไม่ วิษณุ หัวเราะก่อนตอบว่า “ทำได้ แต่เขาจะไปทำ ทำไม”
วิษณุ ยังเผยว่า สำหรับขั้นตอนการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนั้น มีคณะทำงานด้านกฏหมายดำเนินการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว ถ้ามีผู้มาขอคำปรึกษาตนก็จะแนะนำไป แต่มีข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกให้เข้าไปชี้แจงหรือไม่ ซึ่งต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปเป็นผู้ชี้แจงในฐานะผู้ถูกร้อง ภายใน 15 วัน
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร มีสิทธิจะปฏิเสธการรักษาการนายกฯ หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า มีโอกาส เช่นในกรณีที่ป่วย เป็นเรื่องธรรมดา เคยเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องเรียงลำดับรองนายกฯ ไว้ถึง 6 คน เพื่อรองรับกรณีดังกล่าว เพราะคนนั้นจะมีปัญหา ลองคิดถ้าเกิดท่านหกล้มเป็นไม่ได้ คนอื่นก็เป็นต่อ
และเมื่อถามต่อว่า หากมีเหตุเกิดขึ้น วิษณุ ในฐานะรองนายกฯ ลำดับที่ 3 มีความพร้อมรักษาการหรือไม่ วิษณุ ตอบทันทีว่า “ไม่พร้อม ผมหนักกว่า พล.อ.ประวิตร อีก”
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามต่อว่า หากสมมติรองนายกฯ ทั้ง 6 คน ไม่สามารถรับตำแหน่งได้ทั้งหมด ซึ่ง วิษณุ ตอบว่า ไม่ต้องสมมติ เป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ทั้ง 6 คนนั้นตายหมด หากไม่มีใครรักษาการได้ ก็ขึ้นอยู่กับ ครม. ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ขึ้นมาจากใน ครม. สมัยก่อนจะมีปัญหานี้ ในกรณีที่มีรองนายกฯ คนเดียว
วิษณุ ยังย้ำว่า ในกรณีลงนามรับสนองพระราชโองการเพื่อบังคับใช้กฏหมายต่างๆ นั้น รักษาการนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้ ตนก็เคยรักษาการนายกฯ ลงนามรับสนองมาก่อน ในสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีข้อทักท้วง แต่สภาฯ ต้องชะลอไว้ 3 วัน เพื่อรอผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงส่งให้รัฐบาลชะลอไว้อีก 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
“พอพ้น 5 วัน ก็ยังเก็บไว้ได้อีก 20 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่ 20 เก็บถึงวันที่ 7 หรือ 8 ก็ได้ เพราะฉะนั้นยังไม่มีเรื่องจะรับสนองได้ง่ายๆ ยังมีเวลา พอดีพอร้ายคำวินิจฉัยเรื่อง 8 ปี อาจจะออกมาก่อนด้วยซ้ำไป” วิษณุ กล่าว