วันที่ 8 ก.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่พรรคประชาธิปัตย์ลงมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก 11 คน คือเห็นชอบกับสูตรคำนวณแบบหาร 100 และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เห็นชอบกับสูตรหาร 500
ชินวรณ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐสภามีมติอย่างไรแล้วก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย ตามจริงแล้ว ที่ตนยึดมั่นในหลักการแก้ไขกฎหมาย เพราะรู้ว่าไม่ว่าจะแก้ไปในทางใด ก็ต้องดำเนินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 คือส่งให้องค์กรอิสระ คือ กกต. วินิจฉัยอีกครั้ง
เมื่อให้ กกต. กลับไปพิจารณาอีกครั้งแล้ว ก่อนส่งกลับมาที่รัฐสภาเพื่อแก้ไขอีกครั้ง จากนั้นรัฐสภาจะส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ให้เก็บไว้ได้ 5 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา สามารถเข้าชื่อกันเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่หากไม่มีผู้เสนอก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ชินวรณ์ ระบุว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือเมื่อได้ตัดสินใจทางการเมืองไปทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็ย่อมต้องมีผลผูกพันต่อไป พวกตนที่ยืนบนหลักการก็คิดแบบตรงไปตรงมา โดยไม่ยึดเอาผลประโยชน์ของพรรค หรืออคติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองใดๆ เข้าใจว่ากระบวนการแก้ไขในระบบบัตร 2 ใบนั้นควรเป็น 2 ทาง ส.ส.เขตทั้ง 400 เขตใครได้คะแนนสูงสุดก็ได้ไป ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็เป็นไปตามสัดส่วนโดยตรง แต่เมื่อนำมาคิดแบบสัดส่วนผสมหาร 500 ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ทั้งในทางสารบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็เป็นห่วงว่าเมื่อไปถึงขั้นตอนการตีความแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนไม่อยากจะก้าวล่วง
"เมื่อใช้สูตรคำนวณหาร 500 แล้ว จะเกิดกระบวนการที่เราไม่อยากให้มี คือการแตกแบงค์พัน แต่หากวันนี้เกิดกรณีนั้นก็เป็นความชอบธรรม เพราะเราไปแก้กฎหมายบังคับให้เขาแตกแบงค์พัน คนที่คาดหวังว่าจะทำให้เขาไม่ได้รับคะแนนแลนด์สไลด์ ตรงกันข้าม การคิดแบบนี้กลับจะทำให้เขาได้คะแนนแลนด์สไลด์มากยิ่งขึ้น คะแนนบัญชีรายชื่อ อันดับ 1-3 อาจเป็นพรรคที่สามารถสร้างชื่อเสียง และน้ำเสียงของพรรคได้สูง ลงมาตามลำดับได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ใครตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องรับผิดชอบ"
เมื่อถามย้ำว่า การใช้สูตรคำนวณแบบหาร 500 ก็ไม่ได้ส่งผลกับการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ชินวรณ์ ตอบว่า "นั่นสิ เราก็ไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ควรแก้อยู่บนหลักการ"
ชินวรณ์ ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ พรรคการเมืองก็มีสิทธิ์ที่จะแตกแบงค์พัน ดังนั้น จึงไม่อาจยุติการแลนด์สไลด์ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการทางการเมืองใดก็แล้วแต่ การยึดหลักนิติธรรม จึงเป็นทางที่ดีที่สุด
ชินวรณ์ กล่าวถึง การจัดสรรเวลาของฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยระบุว่า ในวันที่ 18 ก.ค. ก่อนวันอภิปราย จะมีการนัดประชุมกับทุกพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาล เพื่อหารือว่าประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง พาดพิงถึงกระทรวงใด
ชินวรณ์ ยังระบุถึง ระยะเวลาอภิปรายของฝ่ายค้าน ที่ได้จัดสรรเวลาไป 45 ชม. เมื่อคำนวณแล้ว เท่ากับฝ่ายรัฐบาลจะได้ 18 ชม. หักให้ประธานสภา 3 ชม. เวลาที่เหลือจึงเป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงต้องมาเตรียมพร้อมว่าต้องใช้เวลาในการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไร แม้ฝ่ายค้านจะระบุว่าให้เวลาฝ่ายรัฐบาลไม่จำกัดในช่วงหลัง 23.00 น ไปแล้ว แต่ตนมองว่าการชี้แจงควรอยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนให้ความสนใจ
“ผมเองได้การบ้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอเวลาให้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงอย่างเต็มที่ ส่วนในเรื่องอื่นเข้าใจว่าทุกฝ่ายจะเคารพข้อบังคับ เพราะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายแล้ว ฝ่ายค้านก็ต้องหาประเด็นที่จะอภิปราย ให้มีความชัดเจน”
ชินวรณ์ ยืนยันว่า จะให้ฝ่ายค้านได้มีเวลาอภิปรายอย่างเต็มที่ ยกเว้นว่ามีการพาดพิงก็ต้องชี้แจงกัน ที่สำคัญตนคิดว่ารัฐมนตรีควรมีสิทธิ์ยกมือชี้แจงตอนไหนก็ได้ เพราะข้อบังคับระบุไว้ เมื่อดูภาพรวมแล้วมองว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นผู้ที่มีเรื่องต้องชี้แจงมากที่สุด ก็ควรให้สิทธิท่านอย่างเต็มที่ ส่วน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ควรต้องได้เวลาชี้แจงอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะได้ถึง 2 ชม. หรือไม่ เชื่อว่ารัฐมนตรีท่านอื่นจะไม่ได้ชี้แจงยาว