ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ชวนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศ APEC เชื่อนำไปสู่การยึดกุมระบบเศรษฐกิจ-ฐานทรัพยากร ของคนบางกลุ่ม

วันที่ 8 ต.ค. 2565 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง เชิญชวนองค์กรภาคประชาชน ร่วมจับตา ติดตาม และแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อการประชุมของกลุ่มประเทศ APEC ที่จะนำไปสู่การยึดกุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากร เนื้อหาระบุว่า

เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการประชุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) มาเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อเสนอต่อประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมด 

หากพิจารณาสาระสำคัญของแนวคิดนี้ที่อาศัยสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 อันเป็นวิกฤติร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งต่างพยายามหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตัวเองในขณะนี้ รวมไปถึงการอ้างถึงปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ Climate Change ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลเสียจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง และกำลังสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง จึงคิดไปว่าแนวคิดของเศรษฐกิจ BCG น่าจะเป็นทางออกของโลกใบนี้ได้ ประเทศไทยจึงพยายามโน้มนำให้ประชาคมเอเปคยอมรับผ่านการประชุมในครั้งนี้ ด้วยหวังว่าจะตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ภาวะวิกฤติดังกล่าว ซึ่งแนวคิดนี้จะมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และอ้างว่าจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความสมดุลเท่าเทียมและทั่วถึงให้มากยิ่งขึ้น บนหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน 

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. ไม่เชื่อว่าประชาชนไทยและประชาคมโลกจะได้ประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ และยังไม่เชื่อด้วยว่า แนวคิด BCG จะถูกนำมาปรับใช้อย่างเอาจริงจัง และคงเป็นเพียงวาทกรรมอันสวยหรูและขายฝันเพื่อโน้มน้าวให้สังคมโลกได้เห็นแต่เฉพาะข้อดีของการประชุมดังกล่าว เพราะในอีกด้านหนึ่ง ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเวทีการประชุมกลุ่มเอเปค คือช่องทางหรือเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มประเทศที่ได้เปรียบทางการค้าการลงทุน อันเป็นกลไกของระบบทุนนิยมเสรีใหม่ที่สมคบกับกลุ่มอิทธิพลการเมืองและรัฐราชการ ที่จ้องกอบโกยฐานทรัพยากรและผลประโยชน์อื่นๆ จากกลุ่มประเทศที่ด้อยกว่าในทุกมิติ ที่ล้วนจะต้องแลกด้วยการสูญเสียทั้งสิ้น ซึ่งที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชน และการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศเหล่านั้น ที่ไม่คล้อยตามแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่มประเทศเอเปคตามข้อเท็จจริงดังกล่าว

โอกาสนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จึงขอประกาศเชิญชวนองค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และอื่นๆ ที่มีความห่วงกังวลต่อการประชุมในครั้งนี้ ได้มาร่วมกันจับตา ติดตาม และแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการประชุมดังกล่าว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ที่กำลังจะอ้างความชอบธรรมผ่านสถานการณ์วิกฤติของโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก เพื่อจะนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการคุกคามและยึดกุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยและประชาคมโลกอย่างเบ็ดเสร็จของคนบางกลุ่มเท่านั้น