นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติเข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป .ป.ชให้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่จำนวน 3 กรณีประกอบด้วย
1.) ให้ตรวจสอบกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 177 วรรค 1 (2)หรือไม่ จากกรณีที่นายไพบูลย์ ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เอาผิดนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ว่ากล่าวหานายไพบูลย์ด้วยความเท็จ เมื่อวันที่ 17 กันยายน และได้ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายเรืองไกร ยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุจริตต่อหน้าที่ หลังมีคำสั่งเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี
2.) ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการจัดงานเลี้ยง "เพื่อนกันตลอดไปสู้ภัยน้ำท่วม" ของพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีคลิปภาพและเสียงปรากฏต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ชี้ชัดว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าภาพและโอกาสหน้าขอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพ เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 128 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐซึ่งรวมถึง ส.ส.รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยให้ตรวจสอบการจัดงานเลี้ยงดังกล่าวว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินและจ่ายไปจำนวนเท่าไร ซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยากจากโรงแรมที่เป็นเจ้าของสถานที่ เพื่อประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช.ด้วย
3.) ให้ตรวจสอบนายกล้านรงค์ จันทิก สวและอดีตกรรมการ ป.ป.ช.ได้ยื่นแสดงรายการหนี้สินตามเช็คจำนวน 1.9 ล้านบาทหรือไม่ โดยได้ข้อมูลจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 9 ธันวาคม 2559 ซึ่งมีนางพันทิวา จันทิก ภรรยานายกล้านรงค์ และตัวนายกล้าณรงค์ ในฐานะโจทย์ทั้ง 2 คน กับนางยมนา สุธาสมิท ที่เป็นจำเลย โดยคำพิพากษาตัดสินว่ามีเช็คจำนวน 1.9 ล้านบาท เป็นของนางพันทิวา ซึ่งนายกล้านรงค์ มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยต้องรวมมูลค่าเช็คจำนวนดังกล่าวด้วย หากนายกล้าณรงค์ ไม่ได้มีการยื่นไว้ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างที่ดำเนินการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด