ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 'รับทราบ' เปิดทางควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมออกเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ หลังประชุมทรหดกว่า 11 ชั่วโมง เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยส่อผูกขาด ด้าน ‘ศิริกัญญา’

วันที่ 20 ต.ค. 2565 ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) แล้วเสร็จ หลังเริ่มประชุมตุ้งแต่เวลาประมาณ 09.45 น. ต่อเนื่องมากว่า 11 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 19.00 น. คณะกรรมการ กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ

โดยที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยกรณีการรวมธุรกิจดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสาธารณะ กสทช. ทุกท่านจึงได้ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้มีการหารือ อภิปราย รวมถึงแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่วมกันในทุกๆ ด้าน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 11 ชั่วโมง 

จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ 

โดยสำนักงาน กสทช. เผยแพร่เอกสารผลการประชุม กสทช. โดยระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบประเด็นการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561หรือไม่ โดยมีผลของการลงมติดังนี้

ที่ประชุมเสียงข้างมาก คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561

ที่ประชุม กสทช.เสียงข้างน้อยคือ รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัช ศุภชลาศัยและ  ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว

​ส่วน พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของดออกเสียง โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง

​อนึ่ง เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน 5 คน ประกอบด้วย 1) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. (ด้านคุ้มครองผู้บริโภค) 2) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) 3) พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์) 4) ต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) และ 5) ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์)

ส่วนรายละเอียดและความเห็นจากกรรมการ กสทช. รายบุคคลที่มีต่อการลงคะแนนเสียงยังไม่เปิดเผย 

‘ก้าวไกล‘ลุยฟ้อง กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า มติดังกล่าวเป็นสิ่งที่คาดเดาได้จากพฤติกรรมต่างๆ ของ กสทช. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ต่อผลกระทบที่จะตามมากับประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งสภาพการแข่งขันที่ลดลง แนวโน้มค่าบริการที่จะสูงขึ้น และคุณภาพของการให้บริการที่อาจด้อยลงในอนาคต

ศิริกัญญา ระบุว่า ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า กสทช. มีความพยายามมาโดยตลอดที่ตีความกฎหมายที่มีอยู่ว่าตัวเองไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต และทำได้เพียงรับทราบ แม้จะตรงกันข้ามกับความเห็นของทั้งอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ตั้งขึ้นมาเอง ความเห็นของศาลปกครอง รวมถึงความเห็นของกฤษฎีกา ที่ย้ำชัดว่ากสทช. มีอำนาจเต็มที่ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต เนื่องจากเป็นเข้าถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน

การที่ กสทช. อ้างว่า ทรู และดีแทค ไม่ได้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันจึงทำได้แค่รับทราบเท่านั้น การรวมธุรกิจจึงไม่ต้องขอการอนุญาตนั้นค้านสายตาคนทั้งประเทศ จะด้วยเหตุผลว่าทรูไม่ได้เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ในขณะที่ดีแทคถือใบอนุญาตธุรกิจ Wi-fi หรือจะด้วยเหตุผลว่าบริษัทที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ (New Co.) ที่จะโอนย้ายหุ้นไปไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ก็ฟังไม่ขึ้นแทบทั้งสิ้น

แม้จะมีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะออกมา แต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้คืนสภาพการแข่งขันให้เหมือนกับการมีผู้ให้บริการ 3 รายได้ และมาตรการต่างๆ ไม่ได้สร้างแรงจูงใจมากพอที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด นับว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชน

"ในเมื่อ กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด เราจำเป็นต้องยื่นฟ้อง กสทช. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อประชาชนต่อไป" ศิริกัญญา ระบุ