แม้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะฝ่าดงหนามในศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมาอย่างไม่ยากเย็นนัก
ทำให้ นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ทักทายรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 28 ต.ค. อย่างอารมณ์ดี
แต่ใช่ว่าเส้นทางในสภาจะพ้นพงหนาม เพราะการต่อสู้ในสภาต่อไปอีก 4 เดือนข้าง เป็นเส้นทางที่โหดหิน รอต้อนรับ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่
เปิดวาระการเมืองในสภา ความเร่งด่วนตอนนี้คือ “คลายสถานการณ์” ม็อบราษฎร ฝ่ายรัฐบาล มีการชงตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ให้สถาบันพระปกเกล้าไปดีไซน์เวทีเจรจาความขัดแย้ง โดยมี “ชวน หลีกภัย” ในฐานะประธานรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ
ทว่าพรรคเพื่อไทย - ก้าวไกล สองดูโอ้เบอร์ 1 เบอร์ 2 ในซีกฝ่ายค้านเล่นเกมต้าน คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เป็นคีย์เดียวกัน ยื่นเงื่อนไขการเข้าร่วมคณะกรรมการไว้สูงลิบ คือ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องแสดงสปีริต “ลาออก” ก่อน
ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับ และแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ประเด็น คือ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้ประกาศคำสั่งของ คสช.อยู่เหนือกรอบรัฐธรรมนูญ และแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ควรมีกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนด้วย ถึงคุยกันได้และเข้าร่วมคณะกรรมการ
เกมเจรจาผ่านคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ แม้ยังไม่เห็นรูป เห็นร่าง แค่เห็นเค้าลางแรงต้านคงดูไม่จืด แน่นอนว่าในวันจันทร์ที่ 2 พ.ย. สถาบันพระปกเกล้า จะชงโครงสร้างคณะกรรมการให้ประธานรัฐสภาพิจารณา และจะมาหารือจริงจังหลังจากเปิดสมัยประชุมทั่วไป
คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์แท้ง - ไม่แท้ง ยังต้องรอลุ้น ในเมื่อพรรคฝ่ายค้านรวมตัวตั้งป้อมปฏิเสธ เพราะเห็นว่าคณะกรรมการดังกล่าวเป็น “เกมซื้อเวลา” ปาหี่
นำมาสู่วาระที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ทั้งร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน บวกกับ 4 ญัตติที่เพื่อไทย ยื่นแก้ไข “รายมาตรา”
ประกอบด้วย ญัตติ 1 แก้ไข มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และแก้ไข มาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก , ญัตติ 2 แก้ไข มาตรร 270 และ มาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป , ญัตติ 3 แก้ไข มาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ญัตติ 4 แก้ไขระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
บวกกับพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีบัญชีแนบท้ายเป็นชื่อประชาชนเกิน1 แสนชื่อ ของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่จะเข้ามาประกบหลังวันที่ 12 พ.ย. นี้
สิ่งที่ต้องจับตาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ - วิษณุ เครืองาม รับปากกลางสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเร่งด่วน คือการพิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ก่อนรับหลักการ ที่จะต้องมีการโหวตในที่ประชุมรัฐสภา
กระทั่งท่าทีของ ส.ว.ในการโหวตผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับรวมของ “ไอลอว์” ที่สุดแล้วจะผ่านไปสู่วาระ 2 กี่ฉบับ เพราะใน 4 ญัตติของฝ่ายค้าน อาทิ ปิดสวิตช์ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ – การเลิกมาตรา 272 ที่ยกเลิกประกาศ - คำสั่ง คสช. เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของผู้มีอำนาจ
นอกจากนี้ ยังมีแววว่า จะมี ส.ส.ตัวจี๊ดในพรรคพลังประชารัฐ - ส.ว.สายเดินเกม ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไปขมวดปมกับท่าทีฝ่ายค้านในช่วงกลางค่อนปลายเดือน ที่เตรียมแผนการที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งความล้มเหลวการแก้เศรษฐกิจ - การเมือง
พุ่งตรงมาที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เพียงผู้เดียวก็ฟาดได้ทั้ง ครม.
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีอยู่ 5-6 เรื่องที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นวาระแรกที่พรรคเพื่อไทยจะทำหลังจากการเปิดสมัยประชุม
“ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติที่จะซักฟอกรัฐบาล เพราะตอนนี้รัฐบาลกำลังเซ จึงจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคนเดียวก็กระทบหมดทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ยังต้องคิดกันอย่างรอบคอบในทีมผู้บริหารพรรคอีกครั้ง”
วาระร้อนกำลังรอ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งศึกใน ศึกนอกสภา
ฝ่ายค้าน และ ม็อบราษฎร ผนึกกำลังรุกต้อนทุกทิศทาง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จนมุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง