ไม่พบผลการค้นหา
นักดนตรีและพิธีกรชื่อดังของญี่ปุ่นยอมรับว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับเด็กสาว ม.ปลาย แต่กระแสต่อต้านการละเมิดทางเพศ #MeToo ยังจุดไม่ติดในญี่ปุ่น

นายทัตสึยะ ยามะกุจิ วัย 46 ปี มือเบสของวง Tokio วงดนตรีร็อกชื่อดังของญี่ปุ่นยุค 90 ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อเด็กสาววัย 16 ปี นักเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเขาบังคับจูบ หลังจากที่ทั้งคู่ดื่มเหล้าด้วยกันที่บ้านพักของเขาเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยบริษัทจอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ต้นสังกัดของวงโทคิโอะ ซึ่งระบุด้วยว่าเด็กสาวคนดังกล่าวยอมยุติเรื่องราวก่อนที่จะถึงกระบวนการในชั้นศาล พร้อมย้ำว่ายามะกุจิรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

หนังสือพิมพ์ไมนิจิและสำนักข่าวเคียวโดรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนการสอบสวนแก่อัยการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากยามะกุจิถูกสอบปากคำในข้อหาประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อเยาวชน และสื่อญี่ปุ่นรายงานว่ายามะกุจิยอมรับกับเจ้าหน้าที่ว่า เขาร่วมงานกับเด็กสาวคนดังกล่าว จึงได้ชวนเธอไปดื่มเหล้าที่บ้านพักส่วนตัวของเขาในเขตมินะโตะของกรุงโตเกียว และยอมรับว่าบังคับจูบโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของคู่กรณี

วงโทคิโอะเป็นวงดนตรีร็อกซึ่งมีสมาชิกเป็นชายล้วน 5 คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 และมีผลงานที่ได้รับความนิยมทั่วประเทศ ขณะที่ยามะกุจิเป็นมือเบสของวง ปัจจุบันเป็นพิธีกรของรายการโทรทัศน์ R no Hosoku ทางช่องเอ็นเอชเค แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เอ็นเอชเคออกแถลงการณ์วันนี้ (26 เม.ย.) ว่าจะระงับเทปโทรทัศน์ที่มียามะกุจิอยู่

ส่วนสถานีโทรทัศน์นิปปอนทีวีและฟูจิทีวีเป็นอีกสองช่องที่ประกาศระงับความร่วมมือกับยามะกุจิเช่นกัน

metoo

สำนักข่าวเอเอฟพี/ริชมอนด์นิวส์รายงานว่าโทคิโอะเป็นวงดนตรีร็อกที่มีภาพลักษณ์ดีมาโดยตลอด ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแสดงดนตรีในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่อาจระบุได้ว่ากำหนดการดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ส่วนแฟนเพลงของวงโทคิโอะจำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ โดยระบุว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเสียใจอย่างมาก

แม้กระแสต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ #MeToo ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบตะวันตกจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในแถบเอเชียเริ่มตื่นตัวและรณรงค์ไม่ให้สังคมเพิกเฉยต่อการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เว้นแม้แต่สังคมที่มีค่านิยม 'ชายเป็นใหญ่' แบบประเทศญี่ปุ่น แต่สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การผลักดันให้กระแส #MeToo สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนในสังคมญี่ปุ่น "ยังเป็นเรื่องยาก" 

บีบีซียกตัวอย่างกรณี 'ชิโอริ อิโตะ' ผู้สื่อข่าวหญิงชาวญี่ปุ่นที่ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อว่าถูกผู้สื่อข่าวอาวุโสวางยาและข่มขืน หลังจากที่เธอนำเรื่องไปแจ้งตำรวจแต่กลับถูกปฏิเสธการดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่มีท่าทีไม่อยากรับเรื่อง ทั้งยังตั้งคำถามว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการสมยอมหรือไม่ พร้อมทั้งพยายามไกล่เกลี่ยให้อิโตะล้มเลิกการแจ้งความ โดยเตือนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะทำให้เธอเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้อิโตะตัดสินใจนำเรื่องดังกล่าวมาเปิดเผยผ่านสื่อเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้คดีได้รับความสนใจและมีการรื้่อฟื้นขึ้นมาไต่สวนอีกครั้ง

ส่วนกรณีล่าสุดที่บ่งชี้ว่าการละเมิดทางเพศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมญี่ปุ่น คือ กรณีนายจุนอิชิ ฟุคาดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูกนิตยสารญี่ปุ่นรายงานว่าลวนลามนักข่าวหญิงหลายราย ทำให้เขาถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง

สหภาพแรงงานสื่อมวลชนของญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ด้วยว่า ที่ผ่านมา นักข่าวซึ่งถูกลวนลามต้องกล้ำกลืนสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง เพราะการออกมาเปิดเผยว่าถูกละเมิดทางเพศกลับกลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียง และสำนักข่าวหลายแห่งไม่มีกระบวนการไต่สวนหรือให้ความช่วยเหลือที่เป็นระบบแก่ผู้ถูกล่วงละเมิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: