ไม่พบผลการค้นหา
ตรวจปมร้อนความคืบหน้ามหากาพย์ 5 รัฐบาลกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย นามว่า 'สัปปายะสภาสถาน' กับเผือกร้อนปมปัญหาลานจอดรถที่งอกขึ้นมาจากแบบเดิมที่ตั้งไว้เพียง 2,000 คัน

เข้าสู่ 'โค้งสุดท้าย' สำหรับโครงการก่อสร้างอาคาร 'รัฐสภาแห่งใหม่' หรือ 'สัปปายะสภาสถาน' ย่านเกียกกาย เมื่อ 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศ 'เดดไลน์' ต้องส่งมอบพื้นที่อาคารรัฐสภา อู่ทองใน คืน'สำนักพระราชวัง' ก่อนพ้นเก้าอี้ สนช. ราวเดือน ก.พ. 2562 สอดรับตาม 'โรดแมปเลือกตั้ง' ที่วางไว้ 

กาง 'ไทม์ไลน์' โชว์ชัด ปลายปี 2561 ห้องประชุม 'พระจันทรา' สำหรับ ส.ว.ต้องแล้วเสร็จ

ต่อด้วยห้องประชุม 'พระสุริยัน' สำหรับ ส.ส. ต้องเรียบร้อย ในเดือน มี.ค. 2562 พร้อมต้อนรับ สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ ตาม 'วิถีประชาธิปไตย' หลัง 'ปิดปรับปรุง' ไปเกือบ 5 ปี

พรเพชร รัฐสภาใหม่ S__428482566.jpg

(พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตรวจการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่)

ทว่า 'หน้างาน' ยังคง 'ติดขัด' แม้ตัวอาคารรัฐสภาใหม่จะสมบูรณ์พร้อม แต่งานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายในยัง 'ชะงัก' ต้อง 'ชะลอ' รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับระบบไอที และระบบโสตทัศนูปกรณ์ อีกกว่า 8 พันล้านบาท 

นำไปสู่ 'ข้อครหา' บานปลาย เมื่อ 'วัชระ เพชรทอง' อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงแฉทันที นี่คือ 'งบโป่งพอง' งอกจากเดิมที่ตั้งไว้ 3 พันล้านบาท ถามดังๆอีก 5 พันล้านบาทมาจากไหน? 

พร้อมทั้ง 'พาดพิง' สมาชิก สนช.รายหนึ่งอยู่ 'เบื้องหลังบัญชาการ' ก่อนแลกด้วยคดีความ ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้านบาท พ่วงด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี  

สรศักดิ์ เลขาสภา C_8357.JPG

(สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

ร้อนถึง 'ฝ่ายปฏิบัติ' ต้องตั้งโต๊ะแถลง นำโดย 'สรศักดิ์ เพียรเวช' เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจกแจงถี่ยิบ ถึงความจำเป็นที่ต้องขอเพิ่มจากเดิม 5 พันล้านบาท ว่า ที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณเรื่องสาธารณูปโภค และระบบสารสนเทศ หรือไอซีที ซึ่งการขอเพิ่มตามการออกแบบที่ทันสมัยใหม่และมีความเหมาะสม รวมทั้งค่าตบแต่ง งบประมาณ 8,658 ล้านบาทที่รัฐสภาขอไป ครม.จะอนุมัติเมื่อไรคงกำหนดไม่ได้ 

“หาก ครม.อนุมัติงบประมาณดังกล่าวล่าช้า จะทำแผนการย้ายต้องสะดุดลง และคงต้องใช้แผนสองที่จะต้องไปเช่าสถานที่ที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่เพื่อรองรับสมาชิกรัฐสภา แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นกว่าเดิม” สรศักดิ์ ระบุ

เรื่องราวเหมือนจะซาไป แต่แล้วโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ก็ถูก 'จับตามอง' อีกครั้ง

เมื่อ ‘สรศักดิ์’ ออกมาเปิด 'ปมปัญหา' การก่อสร้าง 'ที่จอดรถ' ที่ต้องเพิ่มจาก 2,000 คัน เป็น 3,000 คัน ซึ่งจะส่งให้เวลาต้องล่าช้าไปอีก เนื่องจาก 'สุ่มเสี่ยง' ที่กรุงเทพมหานคร จะตรวจรับงานว่า 'ไม่ผ่าน' เพราะผิดแบบที่กำหนดไว้ ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบเทศบัญญัติของกรุงเทพมหานคร 

ขณะเดียวกัน ‘สรศักดิ์’ ก็เสนอทางออกในอนาคตว่า จำเป็นที่จะต้องมีการเสนอสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ บนดินกับใต้ดิน ซึ่งหากเลือกใต้ดินนั้นก็เพียงพอที่จะขุดลงไปได้อีก 2-3 ชั้น     

สอดคล้องไปกับ 'โชติจุฑา อาจสอน' ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่มา 'จับเข่าคุย' กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ไล่เรียงที่มาไป พร้อมวิธี 'ผ่าทางตัน' ปมลานจอดรถ ตามมาตรการจากผลการศึกษาของอนุกรรมการ 

เริ่มตั้งแต่ขั้นต้น ที่ทีม 'สงบ. 1501' ผู้ชนะการออกแบบ ว่า “ข้อเท็จจริงคือ ตามทีโออาร์ระบุชัดว่า โครงการก่อสร้างจะมีพื้นที่ใช้สอย 307,000 ตารางเมตร ที่จอดรถ 2,000 คน การคิดพื้นที่จอดรถต้องเป็นสัดส่วนตามพื้นที่ใช้สอย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของกรุงเทพมหานคร กำหนดไว้” 

ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บอกว่า หลังจากมีการพัฒนาแบบ ด้วยการหารือถึงความต้องการใช้งานกับบุคคลากรในสำนักงานแล้ว ปรากฎว่า พื้นที่ใช้สอยมันเพิ่มเป็น 424,000 ตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นมาแสนกว่าตารางเมตร เกือบร้อยละ 50 ทำให้ที่จอดรถจึงต้องเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน

โชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาก่อสร้างรัฐสภาใหม่ _P3A9684.JPG

(โชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่่)

“แต่ทางผู้ออกแบบเอง เขาก็ชี้แจงว่า ต้องยึดตามทีโออาร์ ที่กำหนดไว้ 2,000 คัน เป็นไปตามพื้นที่ใช้สอย 307,000 ตารางเมตร จึงส่งมอบแบบนี้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับผู้รับจ้าง ทางสำนักงานเองก็ทราบว่า ความเหมาะสมจำนวนที่จอดรถผ่านการศึกษา จำนวนผู้มาใช้บริการสำนักงานเป็นจำนวน 1.3 หมื่นคน ต่อปี มีคนนำรถมาจอดราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ก็ตก 4,000 – 5,000 คัน จึงเพียงพอต่อผู้มาใช้อาคารรัฐสภา”

ด้วยข้อจำกัดที่ออกแบบมาไม่ครบถ้วน ทาง กทม. ได้ให้คำแนะนำว่า ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งต้องคำนวณจำนวนที่จอดรถ โดยผู้ออกแบบได้คำนวณตามกฎหมายแล้ว ปรากฎว่า ที่จอดรถที่ถูกต้องตามกฎหมายของอาคารัฐสภาคือ 3,973 คัน ทางผู้ออกแบบก็ชี้แจงเพิ่มเติมมาว่า เดิมตามแบบมีที่จอดรถ 2,000 คัน ก็ไปเพิ่มที่จอดบริเวณลานด้านหน้าอาคาร และโดยรอบทั้งหมด ก็จะถูกต้องตามกฎหมาย” 

‘โชติจุฑา’ อธิบายว่า “แต่การดำเนินการแบบนั้น คงไม่เหมาะสมกับอาคารรัฐสภา ที่ออกแบบลงทุนรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆกันมาแล้ว 2-3 หมื่นล้านบาท จอดรถแบบนั้นก็คงไม่สง่างาม นี่จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและรองรับการใช้งานจริง” 

ถึงตรงนี้ ย่อมเกิดคำถามทันทีว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?

ที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงว่า “ก็มีเหตุผลคนละฝ่าย เหตุผลทางฝ่ายแบบเองเขาก็บอกว่า ทำตามทีโออาร์ แต่ในทีโออาร์ก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่เรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขแน่นอน ซึ่งการแก้ไขต่างๆ ต้องใช้งบประมาณ และต้องคำนึงถึงเวลาที่กระชั้นอย่างที่ทุกคนทราบกัน” 

รัฐสภาใหม่ itled-1.jpg

(อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2562)

สำหรับไอเดียแก้ปัญหาที่จอดรถนั้น โชติจุฑา ระบุว่า “ในทางเทคนิคการก่อสร้างใต้ดินสามารถทำได้ แต่ต้องเร่งรัดงบประมาณมาสำหรับออกแบบ และจัดหาผู้รับจ้างโดยเร็ว ถ้าได้เงินมาเร็วก็คงเร่งรัดได้ อาจใช้เวลาสัก 20-24 เดือน”

ดังนั้น การก่อสร้างชั้นใต้ดินเพื่อรองรับที่จอดรถของรัฐสภาแห่งใหม่ หากเริ่มในกลางปี 2561 ก็จะแล้วเสร็จกลางปี 2563 ซึ่งจะเป็นการสร้างเสร็จสิ้นหลังจากรัฐสภาใหม่เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์หลังเดือนธันวาคม 2562

ส่วนเรื่องดินที่ต้องขุดนั้น ‘โชติจุฑา’ ถอดบทเรียนจากครั้งแรกเริ่ม ที่ส่งผลต่อการมอบพื้นล่าช้า จนต้องขยายเวลาก่อสร้างมาแล้ว 3 ครั้งว่า “คงกำหนดให้ดินส่วนนี้ ยกให้ผู้รับจ้างไป เพราะค่าดินที่ผ่านมาก็ขายได้คิวละ 17 บาท 20 บาท อยู่แล้ว”   

'เวลา' ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่าย 'เห็นพ้อง' ทว่า 'งบงอก' ทั้ง 'ระบบไอซีทีและลานจอดรถ' ก็ยังคงถูกตั้งคำถามถึง 'ความคุ้มค่า-ความจำเป็น' จึงเปรียบเสมือน 'เผือกร้อน' ที่ถูกโยนใส่มือ รัฐบาล คสช. ในฐานะ 'ผู้ชี้ชะตา' อาคารรัฐสภาแห่งใหม่มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

รัฐสภาใหม่ led.jpg

เกร็ดควรรู้ รัฐสภาแห่งใหม่

  • รัฐสภาแห่งใหม่ใช้ชื่อ 'สัปปายะสภาสถาน'

สัปปายะ แปลว่า สบาย ในทางธรรม สัปปายะ หมายถึงสถานที่ประกอบแต่กรรมดี

  • ก่อสร้างพื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงริมน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 119 ไร่
  •   คณะกรรมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สมัยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เห็นชอบเมื่อปี 2551 ให้ใช้พื้นที่เกียกกาย
  • งบประมาณก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 3.7 แสน ตร.ม. (เฉลี่ย ตร.ม. ละ 32,000 บาท)
  • เริ่มก่อสร้าง 8 มิ.ย. 2556 - 24 พ.ย. 2558

ขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 1 (25 พ.ย. 2558 – 15 ธ.ค. 2559)

ขยายเวลา ครั้งที่ 2 (16 ธ.ค.2559 – 9 ก.พ. 2560)

ขยายเวลา ครั้งที่ 3 (10 ก.พ. 2560 – 15 ธ.ค. 2562)

  •  รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ผ่านมา 5 รัฐบาล (รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
  • ห้องประชุมพระสุริยัน (ประชุมสภาผู้แทนราษฎร) บรรจุ 800 คน
  • ห้องประชุมพระจันทรา (ประชุมวุฒิสภา) บรรจุ 300 คน
  • สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมย้ายไปประชุมที่รัฐสภาแห่งใหม่ ต้นปี 2562 (ใช้ห้องพระจันทรา)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง