ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยระบุว่าการปลูกต้นไม้ไม่สามารถช่วยให้ก๊าซคาร์บอนลดลงมากพอจะบรรเทาภาวะโลกร้อน จึงต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเท่านั้น

มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ประมาณ 30,000 - 40,000 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศทุกปี หากมนุษย์ไม่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ โลกก็จะร้อนขึ้นกว่าเดิมเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อวิธีชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างมาก

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาวิธีขจัดก๊าซคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่คนนึกถึงก็คือการปลูกต้นไม้ให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนและปล่อยก๊าซอ็อกซิเจนออกมา แต่ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการเอิร์ธสฟิวเจอร์ระบุว่ามนุษย์ไม่สามารถปลูกต้นไม้มากพอที่จะกำจัดก๊าซคาร์บอนได้ตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีการเปรียบเทียบว่าจะต้องปลูกต้นไม้เต็มพื้นที่ประเทศสหรัฐฯ จึงจะดูดซับก๊าซคาร์บอนร้อยละ 10 ที่มนุษย์ปล่อยออกมาทุกปี 

ในการศึกษาของลีนา บอยเซน และทีมนักวิจัยจากสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ ของเยอรมนี ระบุว่าหากปลูกพืชสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยหวังว่าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนลง และยุติภาวะโลกร้อนได้ จะต้องปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพแทนที่ป่าตามธรรมชาติถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ป่าที่มีในปัจจุบัน และต้องปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพ 1 ใน 4 ของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้โลกเผชิญวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ผลวิจัยดังกล่าวยังสรุปว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างสุดขีดและพัฒนาเทคนิคการจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นทางออกของการยับยั้งภาวะโลกร้อน ซึ่งจะต้องมีเทคนิคในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคเกษตร คมนาคมและอุตสาหกรรม รวมถึงเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนเพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากเดิมไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายในปี 2100

ที่มา: Business Insider, Earth Future

อ่านเพิ่มเติม: