ภาพเด็กๆ นั่งขัดสมาธิ หลับตาร้องไห้สะอึกสะอื้นภายในห้องประชุม เบื้องหน้ามีพระสงฆ์กำลังนั่งเทศนาถึงบทเรียนชีวิต ความผิดพลาดและความเสียสละ ตลอดจนความเหน็ดเหนื่อยของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด กลายเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นปกติในกิจกรรมค่ายธรรมะ
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าบทเรียนและคุณค่าที่เด็กได้รับจากค่ายนั้นแตกต่างกันออกไป โดยวันนี้สังคมกำลังตั้งคำถามอย่างหนักกับบางเนื้อหาในกิจกรรม เมื่อพบว่าเด็กรายหนึ่งมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปและถึงขั้นต้องเข้าพบกับจิตแพทย์
เนื้อหาที่ถูกส่งต่อในสังคมออนไลน์ บอกเล่าบรรยากาศในค่ายธรรมะแห่งหนึ่ง ผู้โพสต์อ้างว่า โรงเรียนบังคับให้เด็ก ม.4 เข้าร่วม และเชิญพระอาจารย์มาอบรม บางคืนให้นอนดึกและตื่นเช้ามากจนหลายคนเป็นลม ขณะที่ในบางมื้ออาหารยังเปิดคลิปวิดีโอฆ่าสัตว์ให้ดูอีกด้วย
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กรายหนึ่ง กลับบ้านมาเอาแต่เอ่ยปาก "ขอโทษนะแม่, ขอโทษนะพ่อ, ขอโทษนะพี่" และมีอาการหวาดระแวงใจสั่นตลอดเวลา ไม่สามารถนอนหลับกลางคืน สุดท้ายต้องไปพบจิตเเพทย์และหยุดเรียนชั่วคราว
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นบอก วอยซ์ออนไลน์ ว่า การดำเนินกิจกรรมค่ายต่างๆ มีความจำเป็นยิ่งที่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมต้องเข้าใจจุดประสงค์ รายละเอียดที่แน่ชัด โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีผลต่อความอ่อนไหวทางจิตใจ พูดง่ายๆ ว่า ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ได้แก่
1.คัดกรองผู้เข้าร่วม
“พื้นฐานจิตใจของมนุษย์แตกต่างกัน เด็กที่มีสภาวะอ่อนไหว มีบาดแผลในใจหรือเสี่ยงต่อปัญหาซึมเศร้า กลุ่มนี้ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความอ่อนไหว เนื่องจากอาจส่งผลให้ความรู้สึกลบภายในจิตใจปะทุขึ้นมาได้ โรงเรียนและคุณครูน่าจะรู้ได้ไม่ยาก ว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยง”
2.แสดงรายละเอียดของค่ายที่ชัดเจน
“ให้รายละเอียดที่ชัดเจนครบถ้วน ทั้งวิทยากร กระบวนการ เนื้อหาสาระ เด็กๆ และผู้ปกครองจะได้ประเมินถูกว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะเข้าร่วม ขณะที่คุณครูอย่ายึดติดกรอบที่ว่าต้องบังคับให้ทุกคนเข้าหมด เพราะเรื่องจิตใจไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาล้อเล่น”
3.มีนักจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย
“เมื่อไหร่ก็ตามที่กำลังเล่นกับจิตใจ ควรจะดึงนักจิตวิทยาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างค่ายธรรมมะพระอาจไม่ทราบผลกระทบด้านจิตใจที่มีต่อเด็ก”
4.ถอดบทเรียนหลังกิจกรรม
“อย่าวัดความสำเร็จจากจำนวนเด็กที่เข้าร่วม โดยไม่รู้เลยว่าเด็กๆ เหล่านั้นคิดอย่างไร ผู้ใหญ่ควรมีการถอดบทเรียนหลังกิจกรรม ซึ่งอาจทำให้เราค้นพบสิ่งผิดปกติหรือปัญหา เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
รศ.นพ.สุริยเดว ย้ำว่า การพัฒนาจิตใจของเด็กไม่ใช่งานสร้างภาพ แต่เป็นงานคุณภาพที่ผู้จัดต้องทำการศึกษา ทดลอง คำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ มิฉะนั้นกิจกรรมอาจไม่สร้างประโยชน์และกลายเป็นโทษสำหรับเด็กบางคน
ความสะเทือนใจและน้ำตาของเด็กๆ สำหรับผู้จัดหรือวิทยากรบางคน กลับกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกว่า หลังระยะหลังค่ายธรรมะหลายแห่ง เริ่มมีการกดดันในระดับจิตใจของเด็กมากเกินกว่าเหตุ มองเห็นการร้องไห้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเด็กได้สำนึกถึงบาปบุญ ความผิดพลาดหรือพระคุณของพ่อแม่
“ตอนหลังเริ่มเพี้ยน ทำเกินกว่าเหตุ กดดันมากไป เด็กจิตใจอ่อนไหว น้ำตาจะไหลก็ควรจะพอแล้ว ไม่ควรไปดึงอารมณ์จนเด็กไม่สามารถจะประคองจิตอยู่ได้ พระบางรูปเกิดมันในอารมณ์ รู้สึกตัวเองเก่งทำให้เด็กร้องห่มร้องไห้ได้ มันเป็นซะแบบนี้ บางค่ายทรมานเกิน นั่งสมาธินาน สวดมนต์นาน แทนที่จะผ่อนคลายกลับกลายเป็นเครียด”
พระนักเทศน์ชื่อดังเห็นว่า หากจัดค่ายอย่างเป็นระบบ มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและมีวิทยากรที่มีประสบการณ์ ค่ายธรรมมะจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยที่ผ่านมาการจัดค่ายของวัดสวนแก้ว มีเป้าหมายหลักได้แก่ การคำนึงถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ที่หมายถึงการกราบไหว้บูชา การใช้คำพูดสนทนากับพระ , การฝึกฝนด้านศีลธรรม สมาธิ ก่อนจะลาจากกันด้วยปัญญา
“ปัญหาคือบางวัดเน้นปัญญาน้อย ไปเน้นอารมณ์มากไป หลักการคือให้มันลึกซึ้งแต่อย่าไปบีบคั้น บางวัดก็หัวเราะตะพึดตะพือจนแทบไม่ได้สาระเลย”
ทั้งนี้การนำคลิปช่วงเวลาแห่งการคลอดบุตรมาเปิด เพื่อให้เด็กๆ ได้ตระหนักและเห็นถึงความทุกข์ทรมานของพ่อแม่ พระพยอมบอกอย่าชัดถ้อยชัดคำว่า “เกินไป” สามารถใช้ภาพอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อย การเลี้ยงดู ทดแทนได้อีกมาก นอกจากนี้ยังเห็นว่า การเทศนาที่มีความอ่อนไหว ควรเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม เพื่อปล่อยให้เด็กๆ ได้กลับไปสู่อารมณ์และสถานที่ที่เป็นอยู่โดยเร็ว
"ปรารภถึงชีวิตเหมือนเทียน จุดขึ้นมาแล้วก็ละลาย ชีวิตพ่อแม่ท่านจุดประกายให้พวกเราแต่ตัวท่านเองก็มอดไหม้ไปกับการงาน และการต่อสู้ แน่นอนว่ามีเด็กที่ร้องไห้ แต่เราวางไว้สุดท้ายของกิจกรรมเลย แล้วปล่อยกลับบ้าน" พระพยอมยกตัวอย่างการเทศนา
ที่ผ่านพบว่าสถานศึกษาบางแห่งมักเรียกร้องในเชิงบังคับให้เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรม หากไม่เข้าร่วมอาจส่งผลต่อคะแนนเก็บต่างๆ ซึ่ง 'วาสนา เก้านพรัตน์' ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กไม่เห็นด้วย และมองว่า “การตัดสินใจของเด็กต้องอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่รอบด้าน”
เธอเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคือสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้เกิดการประเมินความพร้อมและมีการเตรียมตัวหากตัดสินใจที่จะไปร่วมกิจกรรม และแม้จะเชื่อมั่นว่าค่ายธรรมะนั้นมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ผู้จัดต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของประสบการณ์และความรู้สึกในจิตใจของเด็กแต่ละคน
“เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้รับผลที่เหมือนกัน หากสอนให้สำนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ แต่ชีวิตจริงตัวเขาเองกำลังมีปัญหาครอบครัวอยู่ แบบนั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกลบในใจได้”
เช่นเดียวกันกับพ่อแม่ผู้ปกครองบางท่าน อย่าคิดว่าการส่งเด็กไปค่ายธรรมะแล้วจะสามารถปรับเปลี่ยนวินัยหรือนิสัยของเขาได้ไปตลอดกาล เพราะสิ่งสำคัญคือการดูแลจากคนใกล้ชิดต่างหาก
“สิ่งที่ควรรู้คือ เด็กจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ไม่ใช่เพราะถูกกำหนดว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่เด็กควรจะเข้าใจว่า ต้องทำเพราะเหตุผลอะไร ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างเป็นเหตุและผลเพื่อให้เด็กเรียนรู้และยอมรับ เขาจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จะตั้งคำถาม หรือปฏิเสธได้ด้วยตัวเขาเอง” ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กกล่าวทิ้งท้าย