ไม่พบผลการค้นหา
“พิชัย” ชี้ ต้องปรับลดงบทหารหากไทยต้องการเป็นประเทศมีรายได้สูง เผยหลังปฏิวัติ ปี2549 งบทหารโตเกือบ 3 เท่า แถมมีจ่ายเพิ่มจากงบกลางและงบความมั่นคง ติง ใช้งบประมาณแบบอีลุ่ยฉุยแฉก “ชิมช้อปใชั” ล้มเหลว แทบไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่อ้างว่างบทหารของไทยไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อยนั้นไม่เป็นความจริง เพราะหากมองย้อนหลังในปี 2549 ก่อนมีการปฏิวัติงบกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 85.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 งบประมาณกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 271% หรือ เกือบ 3 เท่า ใน 14 ปี โดยในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีการเพิ่มของงบกระทรวงกลาโหมมากสุดโดย 5 ปี เพิ่มเฉลี่ยถึงปีละ 4.37% และมีสัดส่วนถึง 7% ของงบประมาณ ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ายังมีการจัดสรรจากงบกลาง และ งบความมั่นคง ไปใช้เพิ่มในด้านการทหารกันอีกมากในแต่ละปี ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารของไทยสูงมาก และ เป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงขยายตัวน้อย 

ทั้งนี้การใช้จ่ายด้านทหารไม่ได้สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจ เรือดำน้ำไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยพยายามแก้ตัวไว้แบบข้างๆ คูๆ ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการจะพัฒนามากขึ้น และต้องการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ควรลดงบใช้จ่ายทางทหารลง เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นว่าไทยจะไปรบกับใคร อีกทั้งรูปแบบการรบในอนาคตอาจเปลี่ยนไป อาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อในปัจจุบันอาจจะไม่มีประโยชน์แล้วในอนาคตก็เป็นได้ เท่ากับประเทศเสียเงินฟรี โดยไทยต้องเสียสละโอกาสการพัฒนาของประเทศและความสุขของประชาชนเพื่อไปซื้ออาวุธที่กำลังจะตกยุคหมดสมัยแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นหากไทยต้องการพัฒนาเร็วขึ้น งบทหารจะต้องถูกลดลงเพื่อนำมาจัดสรรพัฒนาประเทศในโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น คมนาคม และการศึกษา เป็นต้น โดยทั้งนี้หากเป็นไปได้ อยากเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังร่วมของอาเซียนเพื่อความสามัคคีในกลุ่มประเทศอาเซียนและจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางทหารของทุกประเทศสมาชิกเพื่อที่จะได้มีเงินเหลือมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกให้เจริญมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณในอนาคตควรจะต้องนำทุกงบมาเรียงลำดับความสำคํญใหม่เพื่อปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัยและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

นอกจากการใช้งบทหารและความมั่นคงจำนวนมากแล้ว การจัดสรรงบด้านอื่นก็มีการใช้อย่างสะเปะสะปะ มีการแจกเงินอย่างไม่มียุทธศาสตร์ในโครงการประชารัฐและบัตรคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการแจกเงินเที่ยว 1,000 บาท หรือที่เรียกว่า ชิมช้อปใช้ ซึ่งเป็นการแจกเงินแบบสูญเปล่า แถมยังมีปัญหาการลงทะเบียนที่ทำได้ยาก มีข้อจำกัดปิดกั้นประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีความชำนาญในการเข้าไปลงทะเบียน และเมื่อเวลาใช้จริงก็เกิดปัญหาระบบล่ม ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องทิ้งของที่จะช้อปไว้ในรถเข็นในห้างสรรพสินค้า ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าแจกเงินแล้วเงินตกไปอยู่กับนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้า และซื้อสินค้าของนายทุนทั้งหมด ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ไม่ต่างอะไรกับนโยบายช้อปปิ้งแล้วหักภาษีได้ที่รัฐบาลทำอยู่หลายครั้งแล้วต้องยกเลิกไปเพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการใช้เงินอย่างสูญเปล่าเหมือนกัน อีกทั้งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ใครจะมีกะใจไปเที่ยว นอกจากพวกที่มีแผนจะเที่ยวอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้มีการเที่ยวมากขึ้น ขนาด รมว. คลัง ยังไม่กล้าตอบเลยว่า ทำโครงการ ชิมช้อปใช้ แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเท่าไหร่ ซึ่งคงแทบไม่มีผลเลย 

ทั้งนี้ น่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำโครงการให้ประชาชนรากหญ้าสามารถนำไปต่อยอดหารายได้เพิ่มขึ้นได้จะดีกว่ามาก หรือ นำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงสถานท่องเที่ยวให้สวยงามและสะดวกสบายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อหารายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวที่จะมีการกระจายรายได้เข้าสู่ประชาชนทุกระดับมากกว่า 

หากจำกันได้โครงการแจกเงินเที่ยวนึ้เคยถูกนำเสนอก่อนการเลือกตั้งแล้ว แต่ถูกสังคมโจมตีหนักมากจนต้องยกเลิกไป แต่หลังจากเลือกตั้งแล้วก็ยังนำมาปัดฝุ่นทำใหม่ ทำให้คิดว่ารัฐบาลมีกรอบคิดไอเดียเพียงเท่านี้แค่นั้นหรือ ซึ่งย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องไม่เกิดประโยชน์ พลเอกประยุทธ์น่าจะกูกิ้ลเข้าไปอ่านว่าตอนก่อนเลือกตั้งถูกด่าไว้อย่างไร และตอนนี้ถูกด่าอย่างไร ซึ่งไม่ต่างกันเลยแต่ก็ยังจะทำ หากกรอบคิดของรัฐบาลมีเท่านี้จริงๆ ก็น่าจะลาออกแล้วให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำแทนจะดีกว่ามาก ประเทศจะได้พัฒนาในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่อยู่ในสภาพแบบทุกวันนี้ ซึ่งขนาดพูดเรื่องกูเกิ้ลเองที่บอกว่า “ประชาชนไม่ค่อยเปิด ทำให้ปัญหาเกิดเพราะเขาไม่เรียนรู้” ประชาชนได้ยินกันทั้งประเทศ แต่ยังกลัาบอกว่าถูกบิดเบือน ซึ่งอยู่กันในยุคที่มีเทคโนโลยีขนาดนี้แล้วประชาชนคงตัดสินได้ว่าใครกันแน่ที่บิดเบือน