หลังกองทัพเมียนมา นำโดย พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยึดอำนาจด้วยการควบคุมตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู่ วินมินห์ ประธานาธิบดี และแกนนำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดี พร้อมขอเวลา 1 ปี ปฏิรูปองคาพยพใหม่เพื่อจัดเลือกตั้ง
'วอยซ์' ชวนนักวิชาการและนักศึกษาการเมืองระหว่างประเทศร่วมสนทนา จับตาบทบาทการเมืองในเมียนมาภายใต้การนำทหาร ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในประชาคมโลก
ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองและท่าทีของกองทัพเมียน ว่า แนวโน้มการยึดอำนาจมีมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยกองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานพรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี เพื่อทำให้คะแนนนิยมลดลง อีกทั้งพรรรคเอ็นแอลดีมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจ โดยกองทัพได้คัดค้านแนวคิดนี้มาตลอด กระทั่งกองทัพต้องตัดสินใจมาตรการเด็ดขาด อย่างไรก็ดีการรัฐประหารครั้งนี้มีความน่าสนใจคือ การอ้างรัฐธรรมนูญประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด ถือเป็นการรัฐประหารโดยไม่ได้ฉีกรัฐธรมนูญ
"ที่ผ่านมาเอ็นแอลดีพยายามแก้รัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และพยายามลดอำนาจกองทัพ ขณะเดียวกันกองทัพยืนยันว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ เราอาจจะเห็นว่ารัฐบาลของ 'ดอว์ซู' ก็ปกป้องกองทัพกรณีเรื่องโรฮิงญา แต่พอมาถึงอำนาจทางการเมือง ชัดเจนว่ากองทัพรู้สึกว่าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกกัดเซาะ เช่น กรมการปกครองท้องถิ่นของรัฐบาล เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทำให้กลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นหัวคะแนนของพรรคเอ็นแอลดี หรือให้อำนาจทางเศรษฐกิจกับรัฐต่างๆ กำหนดนโยบายได้เลย โดยเฉพาะรัฐชาติพันธุ์ ทำให้กองทัพสั่นสะเทือน"
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของกองทัพเมียนมาและประชาคมโลกจะดำเนินการอย่างไร นฤมลมองว่าปัจจุบันโลกไร้พรมแดน สะท้อนให้เห็นจากท่าทีของสิงคโปร์ ซึ่งไม่ค่อยออกมาแสดงความเห็นการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเมียนมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าจะไม่กลับไปปิดประเทศอีก เพราะมีการพึ่งพาแหล่งทุนจากต่างชาติ แต่อาจจะออกมาตรการในลักษณะอำนาจนิยมสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไป
สำหรับความรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนนั้น นฤมลเห็นว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเพราะผู้ที่ถูกจับกุมไปตามรายงานข่าวทั้ง 32 คน ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม แม้กองทัพจะออกแถลงการณ์ว่ายังให้คุณค่าประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นประชาคมโลกยังคงรอคำตอบ และส่วนตัวเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวกำหนดท่าทีของกองทัพเมียนมา
กฤษณะ โชติสุทธิ์ สาขาวิชาพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ศึกษาพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ระบุว่าก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ส่อเค้าให้เห็นความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกลางและกองทัพเมียนมา
เขามองว่าในพื้นที่ชายแดนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ผ่านการนำเข้าส่งออกสินค้าตามจุดที่กองกำลังติดอาวุธควบคุมอยู่ แต่ในพื้นที่เหล่านั้นจะมีทหารพม่าเข้าไปมีส่วนแบ่งด้วยมานานแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลเอ็นแอลดีมีอำนาจ ได้สั่นคลอนอิทธิพลของกองทัพ อาทิ สั่งยกเลิกการนำเข้าสินค้าตามจุดกองกำลังติดอาวุธดูแล รวมถึงการไปตั้งกรมศุลกากรเพื่อให้เงินที่อยู่นอกระบบมาอยู่ในระบบ ทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นมา
นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่กฤษณะชี้ให้เห็นคือ รัฐบาลเอ็นแอลดียังเข้าไปแทรกแซงการพูดคุยสันติภาพ ทำให้ฝั่งกองทัพรู้สึกไม่พอใจ เพราะการเจรจาสันติภาพ มักจะอ้างอิงมูลค่าเศรษฐกิจบนพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติหรือการค้าข้ามแดน และนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ อาจมากกว่ารัฐประหารด้วยข้ออ้าง 'ทุจริตเลือกตั้ง'
เขาวิเคราะห์ถึงต่อไปถึงปัญหาภาคแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยหลังจากนี้ว่า นับหลังจากนี้ 1 ปี ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลง คนจำนวนมากจะถูกผลักจากโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้การนำของกองทัพ ยิ่งเร่งให้การอพยพย้ายถิ่นฐานเหมือนในอดีตกลับมากขึ้น เพราะทุกการรัฐประหารไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
ในประเด็นความน่ากลัวของรัฐประหารนั้น กฤษณะ มองว่าเป็นความย่อยยับทางเศรษฐกิจด้วย ปฏิกิริยาผู้คนตามแนวชายแดนเริ่มกังวลการยึดอำนาจจะเลวร้ายกว่าโควิด-19 หลังเกิดรัฐประหาร บางจุดชายแดนโดนสั่งปิด เช่น จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนแม่ฮ่องสอน นอกจากทำให้มูลค่าเศรษฐกิจถดถอย แต่ยังส่งผลถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างพ่อค้าไทยและเมียนมาต้องหยุดชะงัก ถือเป็นผลกระทบระยะยาว หน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของไทย ต้องเร่งวางแผนหาทางแก้ไข
"ก่อนหน้านี้จุดผ่อนปรนที่แม่ฮ่องสอนปิดเพราะโควิด-19 จุดหนึ่งที่ผมได้ลงไปวิจัยคือบ้านเสาหิน แต่อีกจุดกลับอนุญาตให้เปิดช่องทางได้ มันทำให้กลุ่มเครือข่ายพ่อค้าเมียนมา ที่อยู่บ้านเสาหินวิ่งไปเข้าในช่องทางอื่น ทำให้กลุ่มพ่อค้าคนไทยที่อยู่บ้านเสาหิน ต้องสูญเสียลูกค้าจำนวนมาก" กฤษณะ กล่าว
ศิรดา เขมานิฏฐาไท นักศึกษาปริญญาเอกจาก Department of Politics and International Studies , SOAS University of London กล่าวถึงท่าทีและการตอบสนองของประเทศตะวันตกว่ามีลักษณะที่เด่นชัดคือ "ประณาม" รัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา
โดยเฉพาะกรณีของ 'ประธานาธิบดีไบเดน' สื่อสารว่าจะมีการ Take Action กับคนที่อยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยของ 'ทรัปม์' ท่าทีต่อเหตุการณ์ในเมียนมาอาจจะไม่รุนแรงแบบนี้ แต่เมื่อไบเดนขึ้นมา เขากล้าพูด เพราะแสดงถึงจุดยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตยได้ชัดเจนกว่า และพยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาเซียนมากกว่าสมัยทรัมป์
ศิรดา กล่าวต่อว่า ความชอบธรรมของเมียนมาเพิ่งได้รับการยอมรับจากเวทีโลกในช่วงที่มีพัฒนาการปรับสู่แนวทางตามประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลเต็งเส่ง ซึ่งทำให้ประเทศเอเซียตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามามีความสัมพันธ์กับเมียนมามากยิ่งขึ้น และกล้าออกตัวว่าสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งปี 2010 รัฐบาลเต็งเส่งเองก็เริ่มพาเมียนมาเข้าหาตะวันตกมาขึ้น เพื่อให้ประเทศหลุดออกจากมาตราแซงชั่นอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็พยามดึงตัวเองออกจากจีนมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างการถ่วงดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก และมหาอำนาจในภูมิภาค
"ความชอบธรรมของเมียนมาถูกลดลงในเวทีระหว่างประเทศ หลังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาที่รัฐยะไข่ หลังจากนั้นประเทศตะวันตกก็ไม่ได้ให้การสนับสนุน และพยายามประฌามกรณีละเมิดสิทธิมนุษษยชนมาตลอด รวมถึงอินโดนีเซียกับมาเลเซียด้วยก็แสดงความไม่พอใจด้วย"
เมื่อเกิดการรัฐประหารในเมียนมา ท่าทีของประเทศอาเซียนต่อเหตุการณ์นี้ก็หลากหลายเช่นกัน ศิรดา ชี้ว่า ท่าทีในส่วนของอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นมีความพยายามยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย แต่หากเทียบกับประเด็น 'โรฮิงญา' แล้ว ถือว่าครั้งนี้ไม่ได้ออกตัวแรงเท่า
ส่วนกัมพูชาและฟิลิปินส์ก็ออกตัวชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องกิจการภายในของเมียนมาเอง จึงไม่ขอยุ่งเกี่ยวอะไรมาก โดยเฉพาะกัมพูชานั้นไม่ได้ต้องการเข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองระหว่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่สิงคโปร์ก็แสดงท่าทีว่า กำลังจับตาสถานการณ์นี้อยู่ และคาดหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีในเมียนมา แต่กรณีของไทยนั้นยังไม่มีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ก็พอคาดเดาได้ว่าจะไม่มีการประณามแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ศิรดาเห็นว่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เป็นเรื่องที่นักวิชาการในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศวิจารณ์กันมาตลอด เพราะเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ แต่ในระดับการทูตเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องยึดหลักการรักษาอำนาจระหว่างกัน แต่ในระดับประชาชนไม่จำเป็นต้องยึดถือหลักนี้เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น
ในส่วนของท่าทีของมหาอำนาจจีนต่อกรณีดังกล่าว ศิรดา ย้ำว่าก่อนหน้านี้เมียนมาไม่ได้ต้องการถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจระดับโลก เพิ่งมีความพยายามในช่วงการเลือกตั้งปี 2010 ที่รัฐบาลเต็งเส่งพาประเทศเข้าหาตะวันตกมากขึ้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เมียนมาพยายามดึงความร่วมมือจากหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ เกาหลี ไทย ญี่ปุ่น แม้จีนจะยังมีความสัมพันธ์และการลงทุนอยู่ในเมียนมา แต่ความสำคัญของจีนต่อเมียนมาก็ลงลดไปมาก
แต่ในช่วงของรัฐบาลเอ็นแอลดี ประกอบกับมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา เมียนมาถูกลดความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศลง ทำให้จีนเข้ามาโอบอุ้ม เมียนมาก็กลับไปพึ่งพิงจีนมากขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังถูกโลกรุมประณาม
เพราะฉะนั้น ศิรดามองว่า จีนจึงอยู่ข้างและสนับสนุนรัฐบาลเมียนมามาตลอด ขณะเดียวกันจีนเองก็พยายามขยายการลงทุนเข้ามาในภูมิภาค โดยมีความต้องการจะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนเข้าสู่เมียนมา ไปถึงพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงแผนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่รัฐยะไข่ โครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว ที่รัฐยะไข่ ทั้งหมดเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลจีนทำร่วมกับเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ศิรดามองว่า รัฐบาลเมียนมาเองก็ไม่ได้ไว้ใจจีนมากนัก เพราะจะคอยระวังตัวตลอด เช่น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ 'อิตาเลียนไทย' มีปัญหากับเมียนมา เพราะไม่สามารถทำตามสัญญาของโครงการทวายได้ ซึ่งตอนแรกจีนเองก็แสดงความสนใจที่ร่วมลงทุนด้วย แต่เมียนมากลับยังไม่สนใจ และหันไปหาญี่ปุ่นแทน แสดงให้เห็นว่าเมียนมามองจีนเป็นตัวสำรอง หากดึงญี่ปุ่นเข้ามาไม่สำเร็จก็ค่อยกลับไปคุยกับจีน ขณะที่จีนไม่ต้องการให้ตัวเองหายไปจากเมียนมา
"ดูได้จากท่าทีของจีนต่อเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้พูดอะไรที่ชัดเจน เพียงแค่การระบุว่าได้จับดูสถานการณ์นี้อยู่ และหวังว่าเมียนมาจะจัดการความแตกแยก ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายได้ สะท้อนว่าจีนไม่ต้องการยุ่งเรื่องการเมือง แต่มองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ" ศิรดา กล่าว
ส่วนปฏิกิริยาจากฟากการเมืองไทย ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สื่อไทยระมัดระวังการเสนอข่าวการรัฐประหารในเมียนมา เพราะเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์และการค้าชายแดนนั้น
ชวลิตย้ำว่า ความจริงสิ่งที่ควรระมัดระวังมากกว่าคือการถ่วงดุลระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ รัฐบาลควรมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นประเทศให้กลับคืนมา อย่าให้ฝ่ายใดมากล่าวหาหรือโจมตีได้ว่า เพราะรัฐบาลมาจากรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเหมือนกันกับเมียนมา จึงสนับสนุนกัน อย่างน้อยการอยู่เฉยๆ หรือนิ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง