ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ฟ้องคดี 'นาฬิกายืมเพื่อน' ชี้ ป.ป.ช.ยังดื้อขอศาลทบทวนคำพิพากษาไม่เกินคาดหมาย ยืนยันสู้ต่อ มั่นใจชนะคดีแน่ เชื่อเรื่องนี้สะท้อนปมอันตรายต่อการสร้างสังคมโปร่งใส เปลือยตัวตน ป.ป.ช.ที่ต้องสังคายนาครั้งใหญ่

กรณีสำนักข่าวอิศราเผย ป.ป.ช. ลงมติเป็นทางการ 4 ต่อ 2 เสียง ไม่เปิดเผยข้อมูลคดีนาฬิกาหรูในส่วนคำชี้แจง พล.อ.ประวิตร 4 ครั้ง ให้บรรณาธิการอาวุโส The MATTER พร้อมยื่นเรื่องศาลปกครองสูงสุดพิจารณาทบทวนอีกครั้งก่อน หลังประธาน ป.ป.ช.แจงเหตุผลหวั่นผลกระทบข้อมูลส่วนบุคคล 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER ในฐานะผู้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ในคดี 'นาฬิกายืมเพื่อน' ให้ความเห็นกับ 'วอยซ์' ว่าไม่เกินคาดหมายที่ ป.ป.ช.จะพยายามให้ศาลทบทวนคำพิพากษาใหม่ หรือจริงๆ คาดไว้ล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำว่า ป.ป.ช.จะต้องใช้วิธีการนี้ เพราะมีตัวอย่างก่อนหน้า ในคดีที่วีระ สมความคิด ขอข้อมูลคดีนาฬิกายืมเพื่อนเช่นเดียวกัน และศาลสั่งให้ต้องเปิดเผยข้อมูล 3 รายการ แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่ยอมเปิดเผยทั้งหมด และพยายามจะให้ศาลทบทวนคำพิพากษา

ส่วนตัวคาดเดาว่า กระทั่งข้อมูลที่ ป.ป.ช.ยอมเปิดเผย สุดท้ายแล้วก็จะมีการ “ปกปิดข้อมูล” บางส่วน ที่อาจเกินเลยกว่าที่ศาลกำหนด ซึ่งถูกระบุไว้ว่า “ให้ปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล” จนข้อมูลที่ได้มาอาจนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้ยาก เพราะอย่าลืมว่า คดีนี้เริ่มต้นมาจากการที่ ป.ป.ช.ให้ “กระดาษเปล่า” แก่ประชาชนและสื่อมวลชน ที่อยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของ ป.ป.ช.

พงศ์พิพัฒน์ ระบุต่อว่า หากใครมีโอกาสและพอรู้ข้อกฎหมายอยู่บ้าง อยากให้ได้ลองไปอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม ทั้งคดีของตนและวีระ และดูที่ข้อต่อสู้ของ ป.ป.ช. ก็จะเห็นร่องรอยของคำอ้างทางข้อกฎหมายที่จะวางมาตรฐานในการไม่เปิดเผยข้อมูล 

เช่น อ้างว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง จะเอาคดีนี้มาฟ้องศาลปกครองไม่ได้, อ้างว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ออกมาปี 2561 ภายหลัง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 ถ้าบทบัญญัติขัดกันให้ใช้อันใหม่กว่า หรืออ้างว่าคดีนี้ยังไม่จบ ยังต้องใช้ตรวจสอบอีก 2 ข้อกล่าวหา คือคุณประวิตรร่ำรวยผิดปกติหรือรับทรัพย์สินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ที่ทั้ง 2 คดีนี้ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 

พงศ์พิพัฒน์ ชี้ว่า หากศาลทบทวนตามมติ ป.ป.ช. ก็คงต้องสู้คดีกันอีกยก แต่มั่นใจเรื่องโอกาสในการชนะคดี เพราะที่ผ่านมาก็ชนะคดี ป.ป.ช.มาทุกขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ (กวฉ.) ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด

ความจริงแล้วทั้งคดีของตนกับวีระที่ใช้เวลา 4 ปีเศษ ถือว่าค่อนข้างเร็วแล้ว ก่อนหน้านี้มีคดีที่คนฟ้องให้ ป.ป.ช.เปิดข้อมูล พบว่าใช้เวลาตั้งแต่ 7-8-9 ปี ที่น่าตกใจคือบางคนเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยซ้ำแต่ ป.ป.ช.กลับเปิดเผยข้อมูลให้เขาไม่ครบเช่น คดีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกไต่สวนกรณีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ต.ค.2551 

“การที่ ป.ป.ช.ยื้อเปิดเผยข้อมูลในเรื่องที่เป็นข่าวใหญ่ เช่น คดีนาฬิกายืมเพื่อนทั้งของผมและคุณวีระ อาจเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ไปยังประชาชนละสื่อมวลชนที่อยากจะขอดูข้อมูลของ ป.ป.ช.หลังจากนี้ว่า ถ้าคุณอยากได้ข้อมูลก็ไปสู้ตามขั้นตอนเหล่านี้ เราจะไม่ให้ข้อมูลกับคุณง่ายๆ ก็ถือเป็นท่าทีอันตรายต่อการสร้างสังคมความโปร่งใส – โดยเฉพาะความโปร่งใสจากหน่วยงานปราบโกงเองอย่าง ป.ป.ช. คดีนี้จึงเปลือยตัวตนของ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งต้องมีการสังคายนาครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นองค์กรปราบโกง ที่ทำตัวโปร่งใสเป็นตัวอย่าง และประชาชนเชื่อมั่นอย่างแท้จริง” พงศ์พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย