สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวผลการประชุมปรึกษาพิจารณาคดี โดยพิจารณาเรื่องที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้ร้องส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. บทเฉพาะกาล มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือกในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งวุฒิสภาตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระแรกเริ่มเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือย้งต่อรัฐธรรมนูญ
บทเฉพาะกาลให้ คสช. เคาะ ส.ว. 250 คน ใน 5 ปีแรก
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในบทเฉพาะกาล ให้นำวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม โดยให้บุคคลสมัคร ส.ว.ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล พร้อมยกเลิกระบบการเลือกไขว้มาใช้กับ ส.ว.ในวาระแรกเริ่ม 5 ปีแรก โดย ส.ว. ในช่วง 5 ปีแรกจะมีจำนวน 250 คน โดย คสช.จะเป็นผู้คัดเลือก ส.ว.ทั้งหมด
ทั้งนี้ ส.ว. 250 คนจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1. ให้ คสช.คัดเลือกมาจากบัญชีที่ได้รับจาก กกต. จำนวน 50 คน และ 2. คัดเลือกจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ให้ได้ 194 คน ขณะที่อีก 6 คนให้มาจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ระทึก! โรดแมปเลือกตั้ง ศาลนัดชี้ขาด 30 พ.ค.
ส่วนหนังสือที่ประธาน สนช. ในฐานะผู้ร้องส่งความเห้นของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 30 พ.ค.นี้
รอชี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 การทำกิจกรรมพรรค
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลได้นัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 30 พ.ค.นี้