ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มบังคับใช้ ก.ม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่ในกลุ่มประเทศสมาชิกตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค.) เป็นต้นไป และสื่อหลายสำนักรายงานว่าผู้ประกอบธุรกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่ให้บริการลูกค้าในอียูอาจได้รับผลกระทบจาก ก.ม.นี้

กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป หรือ GDPR มีเนื้อหาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองใน 28 ประเทศอียู โดยระบุว่า ข้อมูลส่วนบุคคลคือข้อมูลทั้งที่เข้ารหัสหรือไม่เข้ารหัส แต่สามารถบ่งชี้หรือระบุตัวตนของบุคคลได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าถึงหรือเก็บข้อมูลเหล่านี้โดยไม่ได้รับคำอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูล อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานละเมิด ก.ม.ดังกล่าว

คำจำกัดความ 'ข้อมูลส่วนบุคคล' ตาม ก.ม. จีดีพีอาร์ของอียู จะรวมถึงชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขไอพี ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต พิกัดที่ถูกจดจำในระบบอินเทอร์เน็ต และประวัติการรักษาพยาบาลต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การระบุหรือบ่งชี้ตัวตนของบุคคลต่างๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทของเอกชน รวมถึงกิจการอีคอมเมิร์ซในหลายประเทศทั่วโลกได้เก็บข้อมูลดังกล่าวโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อ ก.ม. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้หลายบริษัทต้องปรับเปลี่ยนกฎและหลักปฏิบัติในการเก็บข้อมูลของลูกค้า

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่ากิจการที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ บริษัทคอลล์เซ็นเตอร์ หรือศูนย์ให้บริการลูกค้าในประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน 'อินเดีย' เป็นประเทศที่มีธุรกิจดังกล่าวมากที่สุดในโลก การจะเก็บข้อมูลของลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มประเทศอียูโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อาจทำให้บริษัทได้รับผลกระทบได้

ที่ผ่านมา สื่อโซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมถึงแอปพลิเคชันสนทนาผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอย่างวอทซ์แอพ รวมถึงเสิร์ชเอ็นจินชื่อดังอย่าง 'กูเกิล' ต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนกฎและสื่อสารกับผู้ใช้งานให้มีความตระหนักถึงผลกระทบจาก ก.ม.ใหม่ของอียู โดยมีการส่งอีเมลแจ้งให้ผู้ใช้งานอนุมัติหรือยินยอมจะให้บริษัทสื่อโซเชียลเหล่านี้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้ แต่ผู้ใช้งานสื่อต่างๆ จำนวนมากไม่ทราบว่าจะต้องอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร หรือในกรณีที่มีกานอนุญาตให้ใช้ข้อมูล ผู้ใช้หลายคนก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อมูลใดบ้างที่จะถูกเก็บบันทึกหรือถูกนำไปใช้เพื่อธุรกิจต่างๆ 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้อียูพยายามผลักดัน กม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวเพื่อบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงคุ้มครองพลเมืองของตนที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เป็นผลจากที่บริษัทผู้ให้บริการด้านต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ถูกร้องเรียนมากขึ้นว่าผูกขาดด้านการบริการ และพยายามแสวงหาประโยชน์จากการเก็บบันทึกข้อมูลผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว

ที่ผ่านมามีผู้ใช้กูเกิลยื่นขอความคุ้มครองจากศาลยุโรป เพื่อให้เขาได้รับ 'สิทธิที่จะถูกลืม' หลังจากที่เขาได้รับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ เพราะข้อมูลสถานะทางการเงินที่ติดลบในอดีตของเขายังสามารถสืบค้นได้โดยระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิล และศาลยุโรปตัดสินเมื่อปี 2557 ให้กูเกิลเคารพสิทธิดังกล่าวของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

ที่มา: CNN/ ABC News/ CNet News

Photo by rawpixel on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: