อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค. พ.ศ. 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตนจากเดิม 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน
สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือนให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น
ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนก.ย.-พ.ย. 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2563 ที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากเดิมภายในเดือนมี.ค. 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564 พร้อมทั้งขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีของเดือนม.ค.-พ.ค. 2564 ที่ต้องยื่นและนำส่งหรือชำระในเดือนก.พ.-มิ.ย. 2564 แล้วแต่กรณี ออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า การขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เพียงแต่กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บภาษีรายได้รัฐบาลเลื่อนออกไปเท่านั้น เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มี เงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :