ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการจากนานาประเทศแถลงต่อต้านโครงการวิจัยหุ่นยนต์ต่อสู้ของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเกาหลีใต้ ชี้ปัญญาประดิษฐ์มีแนวโน้มทำให้หุ่นยนต์กลายเป็น 'อาวุธสังหาร' และเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

คณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จาก 30 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายชินซองชอล ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าแห่งเกาหลี (KAIST) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ต่อสู้ที่ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ KAIST ดำเนินการร่วมกับบริษัทฮันวา ผู้ผลิตอาวุธยุทโปกรณ์ของเกาหลีใต้

เครือข่ายนักวิชาการนานาชาติเรียกร้องให้ชินซองชอลและสถาบัน KAIST ยุติโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสู้รบทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า นักวิจัยต้องตัดสินใจว่าเมื่อใดควรยุติการพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีนั้นอาจจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ และโครงการพัฒนาอาวุธที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ มีแนวโน้มจะถูกพัฒนาจนกลายเป็น 'หุ่นยนต์สังหาร' ได้

เนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่งระบุว่า ถ้าหุ่นยนต์สังหารถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดวิวัฒนาการด้านอาวุธระลอกที่ 3 เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้จะทำให้การสู้รบในสงครามดำเนินไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และกลุ่มก่อการร้ายสามารถนำอาวุธสังหารเหล่านี้ไปโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากได้ในครั้งเดียว เพราะหุ่นยนต์จะไม่มีความยับยั้งชั่งใจใดๆ เปรียบได้กับกล่องแพนโดราที่ถูกเปิดแล้วจะไม่สามารถปิดลงได้อย่างง่ายดายนัก เครือข่ายนักวิชาการจึงคาดหวังว่า KAIST จะยุติการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตทันที

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชินซองชอล ผู้อำนวยการสถาบัน KAIST แถลงยืนยันว่าจะไม่มีการพัฒนาหุ่นยนต์สังหาร แต่จะเดินหน้าต่อในโครงการพัฒนาอาวุธอัตโนมัติเท่านั้น ทำให้โทนี วอลช์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแกนนำการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง KAIST แย้งว่า ผอ.ชินซองชอล พูดจาไม่ชัดเจน ทำให้เขาและเครือข่ายนักวิชาการยืนยันจะเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องนี้ต่อไป 

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิชาการรวมตัวต่อต้านการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์หรืออาวุธสังหาร เพราะอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ รวมถึงสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ชื่อดังที่เพิ่งล่วงลับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ต่างก็แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการผลิตอาวุธทั้งคู่

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการของญี่ปุ่นยังได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการวิจัยและการทดลองด้านการทหารภายในประเทศด้วยเช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยด้านเทคโนโลยีความมั่นคงเพิ่มขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อถ่วงดุลการขยายอิทธิพลของจีนในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีน แต่เครือข่ายนักวิชาการของญี่ปุ่นระบุว่า สถาบันการศึกษามีหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพ ไม่ใช่ส่งเสริมโครงการต่อสู้ด้านอาวุธ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: