ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยระบุ 'อารมณ์ขัน' ทำให้มนุษย์พิเศษกว่า AI หรือ 'ปัญญาประดิษฐ์' เพราะ AI ไม่เข้าใจบริบทของเรื่องตลก และไม่สามารถเล่าเรื่องตลกได้อย่างถูกจังหวะหรือสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ฟังได้

บริษัทและสถาบันด้านเทคโนโลยีทั่วโลกมุ่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานด้านต่างๆ และนำหุ่นยนต์ไปใช้แทนทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะสังคมสูงวัยที่ประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน แต่นักวิจัยจำนวนมากประเมินว่า สิ่งหนึ่งที่เอไอยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ คือ การสร้างเสียงหัวเราะ เพราะเอไอไม่มีอารมณ์ขัน ไม่เข้าใจบริบทของเรื่อง และจับจังหวะในการเล่าเรื่องตลกไม่ได้

เฮทเธอร์ ไนต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอนของสหรัฐฯ เปิดเผยกับเอพีว่า อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์และค่านิยมทางสังคมต่างๆ ระดับหนึ่งจึงจะสามารถเข้าใจมุกตลกได้ เห็นได้จากคนที่เดินทางไปต่างประเทศก็อาจจะไม่เข้าใจวัฒนธรรมหรือความรู้สึกนึกคิดของคนในท้องถิ่นจนสามารถเข้าถึงมุกตลกต่างๆ ได้อย่างง่ายดายนัก 

ขณะที่จูลี เรส์ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพอร์ดูในสหรัฐฯ ที่ศึกษาวิจัยเรื่องอารมณ์ขันกับเอไอมานานกว่า 15 ปี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอไอมีระบบการจดจำและประมวลผลอัจฉริยะ เอไอจึงสามารถเล่าเรื่องตลกโดยยึดตามข้อมูลที่มีอยู่ในระบบ ทั้งยังสามารถจำแนกการเล่นคำกำกวมหรือเรื่องเล่าที่มีความหมายสองแง่สองงาม แต่เอไอไม่อาจเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเรื่องดังกล่าวจึงตลก เพราะเอไอไม่สามารถสร้างอารมณ์ขันขึ้นมาได้เอง

เมื่อเอไอไม่มีอารมณ์ขัน จึงไม่สามารถจับจังหวะในการบอกเล่าเรื่องขำขันต่างๆ เพื่อให้คนฟังไม่รู้สึกขำได้ เรื่องตลกที่เอไอเล่าจึง 'ไม่ตลก' หมายความว่า นักแสดงตลกหรือผู้เขียนบทละครตลก จะยังไม่ถูกแทนที่ด้วยเอไอในเวลาอันใกล้ และอารมณ์ขันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์พิเศษกว่าเอไอ แม้ว่าที่ผ่านมา เอไอจะสามารถประมวลผลและเอาชนะมนุษย์ได้ในหลายด้านแล้วก็ตาม เช่น การเล่นหมากรุกหรือหมากล้อม หรือการตรวจจับ 'ข่าวปลอม' ในเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

เรส์ระบุว่า การสื่อสารหรือบอกเล่าเรื่องตลกของมนุษย์ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เอไอจึงไม่สามารถประมวลแบบแผนที่จะใช้เปรียบเทียบหรือเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ขันของมนุษย์ได้ และการพัฒนาเอไอให้เข้าใจอารมณ์ขันอาจต้องอาศัยข้อมูลเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญหลายด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นนักภาษาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักสังคมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม กิกิ เฮมเพิลมานน์ นักวิเคราะห์ด้านภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม เตือนว่า เอไอไม่จำเป็นจะต้องมีอารมณ์ขัน และการสอนให้เอไอเรียนรู้เรื่องอารมณ์ขันอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะเอไออาจเข้าใจผิดว่าการกระทำหรือชุดคำสั่งบางอย่างเป็นเรื่องตลก ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือเรื่องไม่ควรทำ เช่น เอไอที่ประมวลผลบกพร่อง อาจเริ่มสังหารมนุษย์เพราะคิดว่าเป็นเรื่องตลก โดยเรียนรู้จากมุกตลกร้ายหรือตลกเสียดสีประชดประชัน

ที่มา: AP/ Phys.Org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: