ไม่พบผลการค้นหา
นาซาวาดแผนพิสูจน์สิ่งมีชีวิตในระบบดาวฤกษ์ใกล้โลกที่สุด มองหาสิ่งปลูกสร้าง แสงประดิษฐ์ ธรณีสัณฐานปรับเปลี่ยน เตรียมพัฒนายานขับเคลื่อนในอัตราเร็วร้อยละ 10 ของความเร็วแสง

ทีมงานของห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนพลังไอพ่น (เจพีแอล) ในเมืองพาซาดีนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า นาซากำลังเตรียมแผนส่งยานไปยังระบบสุริยะที่มีดาวฤกษ์ อัลฟา เซนทอรี เป็นศูนย์กลาง ตั้งเป้าปล่อยยานในวาระเฉลิมฉลอง 100 ปีของอะพอลโล 11 ในปีค.ศ. 2069

ประเด็นที่ต้องพัฒนาคือ เทคโนโลยีขับเคลื่อนยานอวกาศ ไอเดียเท่าที่มีในเวลานี้ ตัวเลือกอาจเป็นยานกางใบรับการผลักเคลื่อนด้วยอนุภาคมีประจุไฟฟ้า หรืออาจเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์แบบพิเศษ

อัลฟา เซนทอรี อยู่ห่างจากโลก 4.4 ปีแสง ระยะทางราว 40 ล้านล้านกม. ในปัจจุบัน ยานที่เดินทางเร็วที่สุดคือ เฮลิออส ซึ่งทำความเร็วได้ 250,000 กม./ชม. หากเคลื่อนที่ด้วยอัตรานี้ ต้องใช้เวลา 18,000 ปี ยานจึงจะไปถึงระบบสุริยะดังกล่าว

ถ้าต้องการไปให้ถึงในช่วงชีวิตหนึ่ง ยานจะต้องทำความเร็วให้ได้ร้อยละ 10 ของความเร็วแสง จึงจะถึงเป้าหมายในเวลา 44 ปี

แอนโธนี ฟรีแมน หนึ่งในทีมของเจพีแอล อธิบายแนวคิดนี้ในที่ประชุมประจำปีของสมาคมนักธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม

ยานจะมองหาสิ่งปลูกสร้าง แสงไฟที่เปิดปิด ภูมิประเทศที่ถูกดัดแปลง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา

จนถึงปัจจุบัน มียานลำเดียวที่ออกนอกระบบสุริยะของเรา คือ วอยเอเจอร์ 1 ซึ่งเริ่มเดินทางเมื่อ 40 ปีก่อน ตอนนี้ ทำความเร็ว 61,000 กม./ชม. ยังไม่ถึงร้อยละ 1 ของร้อยละ 1 ของความเร็วแสงด้วยซ้ำ

เทคโนโลยีที่นาซากำลังสนใจ เช่น บัสเซิร์ด แรมเจ็ท (Bussard ramjet) ซึ่งใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากวาดเอาธาตุไฮโดรเจนในอวกาศเข้าไปควบแน่นเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ฟิวชัน

อีกตัวเลือกคือ ใบเรืออวกาศ (lightsails) ซึ่งเป็นใบที่สร้างด้วยวัสดุเบาบาง กางออกรับแสงเลเซอร์ที่ยิงจากพื้นโลก แรงดันจะทำให้ยานขนาดจิ๋วทำความเร็วได้ 160 ล้านกม./ชม.

ผลศึกษาเมื่อเร็วๆนี้พบว่า ระบบสุริยะเพื่อนบ้านของเราดังกล่าว มีดาวเคราะห์บริวาร 3 ดวง บางดวงมีลักษณะคล้ายโลก โคจรห่างจากอัลฟา เซนทอรีในระยะที่เอื้อต่อการดำรงชีพ.


Image: NASA

Video:  The Planetary Society