การชุมนุมประท้วงรัฐบาลอิหร่านเริ่มขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2560 ที่เมืองมัชชาด เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่าน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศในตอนแรกว่าต้องการสะท้อนความไม่พอใจต่อรัฐบาล ซึ่งล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงไม่พอใจที่มีการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งของนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านหันมาสนใจต่อปัญหาปากท้องในประเทศอย่างจริงจัง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการชุมนุมได้ขยายพื้นที่ออกไปอีกหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ทั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2560 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงยิงปืนแรงดันน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุม และมีการปะทะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเตหะราน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และมีผู้ถูกจับกุมอีกกว่า 100 คน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในหลายเมืองยืนยันว่าจะรวมตัวประท้วงรัฐบาลต่อไป และผู้ชุมนุมบางส่วนยังเรียกร้องให้อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน ก้าวลงจากตำแหน่งด้วย เพราะผู้ชุมนุมมองว่าอยาตุลเลาะห์ฯ ผูกขาดอำนาจเผด็จกา ทั้งยังเป็นประมุขแห่งรัฐที่มีอิทธิพลในสังคมยิ่งกว่ารัฐบาล ทั้งด้านการเมืองและศาสนา
การประท้วงครั้งนี้ถือว่ามีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในอิหร่านนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเคยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 'กรีนมูฟเมนต์' ต่อต้านผลการเลือกตั้งที่นายมาห์มูด อะมาห์ดิเนจาด อดีตประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนา ได้รับชัยชนะกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนสูสีกับคู่แข่งที่เป็นผู้สมัครสายปฏิรูป ทำให้มีการเดินขบวนประท้วงเพราะเกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่โปร่งใส การชุมนุมในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่งด้วย ส่วนการชุมนุมครั้งนี้มีหลายประเด็นที่แตกต่างจากเดิม
ข้อเรียกร้องไม่ใช่แค่ 'ปัญหาปากท้อง'
สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า การชุมนุมครั้งใหม่ในอิหร่านที่เริ่มขึ้นเมื่อ 5 วันก่อน เกิดจากผู้ชุมนุมหลายกลุ่มที่ไม่พอใจเรื่องค่าครองชีพในอิหร่านเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ราคาไข่และน้ำมันประกอบอาหาร เพิ่มสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาแค่ 6 เดือน เช่นเดียวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ แต่ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้ชุมนุมไม่พอใจที่รัฐบาลสนใจปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศมากยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกันมายาวนานกว่า 50 ปี รวมถึงสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ให้ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธไอเอสซึ่งเป็นมุสลิมนิกายซุนนี ด้วยเหตุนี้ ผู้ชุมนุมจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลหันกลับมาสนใจแก้ปัญหาในประเทศให้มากกว่าเดิม
เศรษฐกิจอิหร่านเริ่มดีขึ้น แต่ยังดีไม่พอ
ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการทุจริต แต่รอยเตอร์รายงานว่าเศรษฐกิจอิหร่านถือว่ากระเตื้องขึ้นในสมัยของนายโรฮานี ซึ่งเป็นผู้นำการเจรจาต่อรองระหว่างอิหร่านกับตัวแทน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีต่ออิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการระงับโครงการพัมนาศักยภาพนิวเคลียร์ โดยนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มเจรจากับรัฐบาลนายโรฮานีเมื่อปี 2558 จนบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน ทำให้อิหร่านมีช่องทางในการค้าน้ำมันเพิ่มขึ้น และกลุ่มทุนด้านพลังงานจากฝรั่งเศสก็ดำเนินกิจการในอิหร่านอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็ประกาศว่าจะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและภาคีทั้ง 5 ประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และนายทรัมป์ยังขู่ว่าจะออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นถึง 28.8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลุ่มนักศึกษาที่มีแนวคิดก้าวหน้าไม่พอใจสภาพทีเป็นอยู่
'ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน' กำลังถูกท้าทาย
นอกเหนือจากประเด็นเศรษฐกิจ กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยังได้เรียกร้องให้ 'อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี' ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน เรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวพาดพิงอำนาจของประมุขแห่งรัฐครั้งแรก นับตั้งแต่มีการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ปาห์ลาวีของอิหร่านเมื่อปี 2522 เป็นต้นมา โดยผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้ร้องตะโกนว่าประชาชนมีปัญหาปากท้อง แต่ผู้นำศาสนากลับทำตัวประดุจพระเจ้า ทั้งยังกดขี่สังคมด้วยการอ้างหลักศาสนาเคร่งครัดในการปราบปรามและจับกุมผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลและสภาศาสนา ส่วนการสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว โดยประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิสราเอลและให้ความสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางที่ต่อต้านอิสราเอล สะท้อนให้เห็นว่าสภาศาสนาไม่ได้สนใจประชาชนในประเทศมากเท่ากับการแสวงหาอำนาจในกลุ่มประเทศมุสลิมภายในภูมิภาค
การชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่?
ทั้งอัลจาซีราและซีเอ็นเอ็นประเมินใกล้เคียงกันว่าการชุมนุมในอิหร่านครั้งนี้จะไม่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนเหมือนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิรูประบบการเมือง 'กรีนมูฟเมนต์' เมื่อปี 2552 เนื่องจากการชุมนุมในครั้งนี้ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน และเมื่อรัฐบาลสั่งปิดกั้นแอปพลิเคชันสื่อสารอย่างเทเลแกรมและเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลรณรงค์หรือชักชวนให้คนออกมาประท้วง ส่งผลให้การรวมตัวของผู้ชุมนุมกระจัดกระจาย ไม่สามารถเดินขบวนเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อแสดงพลังได้อย่างเต็มที่ และกลุ่มเคร่งศาสนาที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน จึงอาจจะทำให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายปะทะกัน และรัฐบาลจะมีข้ออ้างที่เหมาะสมในการใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยช่วงที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมบางส่วนได้จุดไฟเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ รวมถึงทำลายข้าวของในมัสยิดบางแห่งด้วย แต่ข่าวต่างๆ ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยากลำบาก เพราะรัฐบาลอิหร่านไม่เปิดให้สื่อต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง
แรงกดดันต่างชาติไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนชาวอิหร่านที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล โดยระบุว่าอิหร่านต้องยึดมั่นในหลักการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการชุมนุมอย่างสงบและไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนนายทรัมป์ก็ทวิตข้อความสนับสนุนการชุมนุมของประชาชนในอิหร่าน แต่ทวีตของนายทรัมป์กลับมีน้ำเสียงเชิงข่มขู่ เพราะเขาระบุว่าสหรัฐฯ "จับตาดูอิหร่านอย่างใกล้ชิด" ซึ่งนิวยอร์กไทม์รายงานอ้างอิงคำแถลงของนายโรฮานีที่ออกมาตอบโต้นายทรัมป์ โดยระบุว่า 'เป็นเรื่องตลก' ที่ผู้กล่าวหาอิหร่านเป็นฝ่ายสนับสนุนก่อการร้าย ทั้งยังเป็นผู้ประกาศว่าจะคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้ กลับแสดงท่าทีเป็นห่วงเป็นใยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอิหร่าน ส่วนนักวิเคราะห์การเมืองระบุตรงกันว่าท่าทีของนายทรัมป์ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดในอิหร่านดีขึ้น ทั้งยังจะส่งผลให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอิหร่านไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม: