แม้นายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านจะเรียกร้���งให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ แต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านก็ยังคงดำเนินต่อไป และมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจอิหร่านอยู่เรื่อยๆ โดยการประท้วงครั้งนี้เริ่มต้นจากกรณีที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนกลับย่ำแย่ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังสูงเป็นประวัติการณ์
การประท้วงครั้งนี้ถือเป็น การประท้วงที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ขบวนการสีเขียวรวมตัวต่อต้านผล การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009 โดยการรวมตัวในครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองมัชชาด ก่อนจะกระจายไปยังอีกหลายเมืองทั่วประเทศ แม้จุดเริ่มต้นจะเกิดจากความไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจ แต่เริ่มขยายไปเป็นการขับไล่นายโรฮานี และอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีการตะโกนสโลแกนของการชุมครั้งนี้ด้วยถ้อยคำว่า "ผู้คนต่างเรียกร้อง แต่เจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเยี่ยงพระเจ้า"
(ในระหว่างที่มีการประท้วงครั้งใหญ่ กลุ่มอนุรักษ์นิยมของอิหร่านก็รวมตัวแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน)
สำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ระบุว่า การประท้วงครั้งนี้ทำให้เห็นว่า คนชนบทเป็นผู้นำการประท้วงส่วนใหญ่ ทั้งที่ที่ผ่านมาคนชนบทถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ขณะที่คนชนชั้นกลางในกรุงเตหะรานก็แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ก็ยังกลัวความไม่มีเสถียรภาพที่จะเกิดขึ้นจากการประท้วง กรุงเตหะรานจึงไม่ได้เป็นศูนย์กลางการประท้วงเหมือนกับขบวนการสีเขียวในปี 2009
ผู้ประท้วงครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมมีอายุเฉลี่ยอบู่ที่ประมาณ 25 ปีเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ในอิหร่านอย่างมาก ซึ่งคนอายุน้อยกว่า 30 ปี มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรอิหร่านทั้งหมด แต่ทางการเปิดเผยข้อมูลว่าอัตราว่างงานในคนรุ่นใหม่มีมากเกือบร้อยละ 20 แต่ผู้เชี่ยวชาญว่าในความเป็นจริงอาจสูงเกือบร้อยละ 40 เลยทีเดียว
ความคับข้องใจของผู้ประท้วงในครั้งนี้แตกต่างจากปี 2009 อยู่หลายด้าน โดยการประท้วงคราวก่อนมีขึ้นเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีสายเหยี่ยวอย่างนาย มาห์มูด อาห์มาดีเนจาด ลุกลามไปเป็นการประท้วงต่อต้านอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี แต่คราวนี้เป็นการประท้วงความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจของนายโรฮานี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสายกลาง แม้จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านจากดีลโครงการนิวเคลียร์อิหร่านไปบ้างแล้ว ทำให้คนรุ่นใหม่ชนชั้นกลางที่เคยเลือกนายโรฮานีรู้สึกผิดหวัง
แม้รัฐบาลอิหร่านจะพยายามให้เสรีภาพแก่ประชาชนในหลายเรื่อง มีการอนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ต ลดจำนวนตำรวจศีลธรรม ลดการปราบปรามการจัดปาร์ตี้อย่างผิดกฎหมาย แต่อิหร่านก็ยังช่องว่างระหว่างสังคมที่เปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นกับรัฐ ที่ยังมีความอนุรักษ์นิยมสูงมาก รัฐบาลของนายโรฮานีก็ไม่ยอมให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี ขณะที่อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีก็ยังดำเนินนโยบายต่อต้านตะวันตก และจำกัดการตีความคำสอนของศาสนาอิสลามไว้ที่รัฐบาลเท่านั้น ทำให้ประชาชนมองว่า รัฐบาลของนายโรฮานีล้มเหลวในทุกทาง