พล.ต.ต.กฤษณะ ทรัพย์เดช รองผู้บัญชาการตำรวจภาค 7 (รองผบช.ภ.7) เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินการติดตามคดีของ นายเปรมชัย กรรณสูตร CEO บริษัทก่อสร้างชื่อดัง กับพวก ที่ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
โดยล่าสุดพบว่าคดีมีความคืบหน้าไปถึงร้อยละ 70 แล้ว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 จะแบ่งเป็น 1.การสอบปากคำนายเปรมชัย และพวก ซึ่งมีกำหนดการจะเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ 5 มี.ค. 61 2.การสอบปากคำทีมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชุดจับกุม
ซึ่งหนึ่งในนั้น มีนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รวมอยู่ด้วย เบื้องต้น กำลังอยู่ระหว่างรอกำหนดการเรื่องวัน และ เวลา ที่ทีมของนายวิเชียร จะเดินทางเข้าให้ข้อมูลที่แน่ชัด และ 3.ผลการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานที่พบในจุดเกิดเหตุ เช่น DNA รวมถึงลายนิ้วมือ ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผลการตรวจจะออกเมื่อใด แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามเร่งรัดอยู่คาดว่าจะได้ภายในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากสามารถรวบรวมข้อมูลที่เหลือได้ การทำสำนวนก็จะแล้วเสร็จในเวลาไม่นานเนื่องจากปัจจุบันการรวบรวมพยานหลักฐานที่นอกเหนือจาก 3 ส่วนดังกล่าว ค่อนข้างมีความรัดกุมและเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว
ขณะที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสัตว์ สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถบังคับใช้กับสัตว์อื่นๆได้อยู่แล้ว ยังเหลือเพียงนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามที่รัฐมนสตรีประกาศกำหนด เนื่องจากมีข้อโต้แย้งในรายละเอียดของคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาตินี้ ทางกรมปศุสัตว์จะเร่งประชุมคณะกรรมการฯ ให้ได้ข้อสรุปนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างสูงสุด โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 มี.ค. 2561
แม้จะยังไม่ได้มีการกำหนดนิยามให้สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ ก็ตาม สัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติก็อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ หากไปล่า หรือทำร้ายจะมีโทษหนักตามกฎหมายอยู่แล้ว และหากนำสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติมาเลี้ยง จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมและการจัดสวสัดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วยอยู่แล้ว
Photo by rawpixel.com on Unsplash