ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติประณามประเทศที่พยายามกดขี่เสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน หลังพบว่าหลายประเทศพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ลงมติผ่านร่างแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริม ปกป้องและ enjoyment สิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พร้อมประณามประเทศที่ขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน

ร่างฉบับนี้ตอกย้ำว่าสิทธิที่ประชาชนมีในโลกออฟไลน์ต้องได้รับการปกป้องเช่นเดียวกันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการปกป้องด้วยมาตรา 19 ของสนธิสัญญาพหุภาคีด้านสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

แม้ร่างฉบับนี้จะผ่านฉันทามติของสมาชิก UNHRC แต่ก็มีหลายประเทศเช่น จีนและรัสเซียที่คัดค้านร่างนี้ โดยเสนอให้มีการแก้ไขข้อความบางส่วน รวมถึงให้ลบข้อความที่เรียกร้องให้มี "วิธีปฏิบัติที่ตั้งยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน" ในการเปิดและขยายพื้นที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และลบการอ้างอิงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกจาก UDHR และ ICCPR

นายโธมัส ฮิวส์ ผู้อำนวยการบริหารของ 'อาร์ทิเคิล 19' มูลนิธิที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวว่า แนวปฏิบัติของ UNHRC ฉบับนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นมากในการตอบโต้กับแรงกดขี่เสรีภาพใ��การแสดงออกบนโลกออนไลน์ในทุกมุมโลก หลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานถูกเมินเฉย เพื่อใช้มาตรการควบคุมข้อมูลที่ประชาชนเห็นและแชร์บนโลกออนไลน์ เห็นได้จากการรอดพ้นคดีของมือสังหารบล็อกเกอร์ รวมถึงการออกกฎหมายเอาผิดกับผู้เห็นต่างในโซเชียลมีเดีย

แม้แนวปฏิบัติของ UNHRC จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็สามารถกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ และถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่ยูเอ็นตัดสินใจประณามการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต หลังมีรายงานเปิดเผยว่า จำนวนประเทศที่พยายามปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในตุรกีถูกปิดชั่วคราว หลังเหตุระเบิดในกรุงอังการา ส่วนแอลจีเรียก็บล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดียเพื่อป้องกันนักเรียนโกงข้อสอบ

อย่างไรก็ตาม ฮิวส์ยังเห็นว่า ควรมีการผลักดันให้มีพันธะสัญญาที่เจาะจงรายละเอียดลงไปว่าแต่ละประเทศจะปรับปรุงเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์อย่างไร และในอนาคต UNHRC ควรจัดการเรื่องที่สำคัญอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึง กฎหมายกดขี่ที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่ผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์ รัฐบาลที่พยายามทำลายการสื่อสารและนิรนามไร้ตัวตนและการเข้ารหัส และการใช้อำนาจกดดันบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ร่วมมือกับรัฐบาลในการเซนเซอร์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต

ที่มา : The Independent