ไม่พบผลการค้นหา
สังคมที่ประชาชนเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ มีตรรกะ เปิดรับข้อโต้แย้งและกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เป็นสังคมอุดมคติของหลายประเทศ การผลักดันให้เกิดสังคมเช่นนี้ จำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน

นิตยสารฟอร์จูนของสหรัฐฯ จัดประชุมวิชาการระดมสมองด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ลากูนา นีเกล รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมความคิดเห็นในการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศและระดับโลก

ผู้จัดงานให้เหตุผลว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีความถดถอยด้านวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน เพราะผู้นำประเทศอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งปรับลดงบประมาณสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงปฏิเสธผลวิจัยและข้อสรุปต่างๆ ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน จนถึงขั้นที่นายทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐฯ จากการเป็นภาคีความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศฯ ทำให้เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศถกเถียงกันว่า ต้องทำอย่างไรให้สังคมอเมริกันเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่สังคมที่เน้นแต่อารมณ์และความรู้สึกเพียงอย่างเดียว

เว็บไซต์ไทม์ได้รายงานบทสรุปของกลุ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยระบุว่ามีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ ที่จะผลักดันให้สังคมวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง ประกอบด้วย

1. ปลูกฝังให้คนสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก

ในยุคสมัยหนึ่ง เวลาพูดถึง 'นักวิทยาศาสตร์' คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงตำราและการทดลองซึ่งไม่ดึงดูดใจ และเข้าข่าย 'น่าเบื่อ' ทำให้เด็กจำนวนมากไม่สนใจและไม่มีความคิดอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เมื่อโตขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ ดร.ซูซาน เดสมอนด์-เฮลมันน์ ผู้บริหารมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดา เกตส์ ระบุว่า ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์จะต้องปลูกฝังให้เด็กรู้จักและสนใจวิทยาศาสตร์ในแง่มุมที่แตกต่างและหลากหลาย รวมถึงทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เช่น แทนที่จะพูดถึงการเตรียมตัวหรือการอ่านตำราเพื่อจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ให้เปลี่ยนไปพูดถึงเรื่องที่เด็กบางคนกำลังจะตาย และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ จะสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร 

เทคโนโลยีทางการแพทย์.jpg

2. เปลี่ยนระบบการศึกษา 'อย่าท่องจำ' 

ดร.มาร์กาเร็ต ฮัมบรูก ประธานสมาคมวิทยาศาสตร์ชั้นสูงแห่งสหรัฐฯ เปิดเผยประสบการณ์ช่วง 2 ปีแรกที่เข้าไปเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย พบว่าการเรียนวิชาต่างๆ เป็นเรื่องน่าหดหู่ เพราะเน้นการท่องจำตำราเป็นหลัก และสิ่งที่ขาดไปก็คือการเชื่อมโยงว่าความรู้ต่างๆ ที่กำลังศึกษานั้นจะนำไปใช้กับผู้ป่วยจริงๆ ได้อย่างไร ซึ่งการเริ่มต้นวิชาเกี่ยวกับแพทย์ด้วยการท่องจำ อาจจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสูญเสียความกระตือรือร้นไป จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีสอนและวิธีเรียนรู้เสียใหม่ และจะต้องคำนึงถึง 'การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง' ในช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติงานจริงด้วย เพราะต้องจำเอาไว้เสมอว่า "การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด"

3. จริงใจในการปรับปรุงข้อมูลและทฤษฎีให้ทันสมัย

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยการตั้งสมมติฐาน ทดลอง สรุปผล และสอบทานข้อสรุปอีกหลายครั้ง จึงเรียกได้ว่าวิทยาศาสตร์มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และนักวิทยาศาสตร์ต้องหมั่นตั้งคำถามใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะไม่เข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ เมื่อได้รับรู้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ทำให้คนจำนวนมากไม่เชื่อใจในวิทยาศาสตร์ ดารสื่อสารและย้ำให้สังคมเข้าใจถึงพลวัตของวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องจำเป็น และต้องมีการปรับปรุงข้อมูลหรือทฤษฎีต่างๆ ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่ง ดร.เดสมอนด์-เฮลมันน์ระบุว่า "ข้อเท็จจริงก็มีวิวัฒนาการ"


"คนจำนวนมากอยากให้นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความจริงเป็นนิรันดร์ แต่สิ่งที่เราเข้าใจในวันนี้ก็เป็นแค่ความจริงในปัจจุบันเท่านั้น ข้อเท็จจริงก็มีวิวัฒนาการ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงหรือเล่ห์เหลี่ยมอะไร แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์"


4. หนุนความเป็นประชาธิปไตยในแวดวงนักวิทยาศาสตร์

แวดวงวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ (และอาจจะรวมถึงที่อื่นๆ ทั่วโลก) ยังเป็นแวดวงที่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนในวงแคบ และยังมีเรื่องของลำดับชั้นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการสนับสนุนงานวิจัยหรือการทดลองวิทยาศาสตร์โดยอ้างอิงระบบอุปถัมภ์ ทำให้คนในแวดวงเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ และอายุขั้นต่ำที่ด็อกเตอร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะได้รับโอกาสให้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ก็คือประมาณ 40 ปีขึ้นไป 

ดร.เดสมอนด์-เฮลมันน์ ระบุว่า ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์ไม่มีความหลากหลายและยั่งยืน รัฐบาลหรือบุคลากรจะต้องส่งเสริมบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยในแวดวงวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเข้าถึงหรือพัฒนากระบวนการด้านวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลจะเริ่มมีความหลากหลายและไม่จำกัดอยู่แต่ในวงวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่จะมีมุมมองทางสังคมและด้านอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

นักวิทยาศาสตร์

5. เปิดเผยผลวิจัยให้โปร่งใส-ตรวจสอบได้

การเรียนรู้และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบทเรียนที่ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความล้มเหลวได้เช่นกัน และการจะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลหรืองานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือคนอื่นๆ ในสังคมจะได้หลีกเลี่ยงการดำเนินการผิดพลาดซ้ำรอย ซึ่งนอกจากจะไม่เสียเวลาแล้ว ยังช่วยให้กระบวนการทดลอง ค้นคว้าวิจัย หรือการศึกษาต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะมีข้อมูลที่จะนำไปต่อยอดได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: