ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำที่ จ.ชุมพร และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ พบปริมาณน้ำในคลองต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นจากฝนที่ตกหนัก โดยที่ อ.บางสะพานน้อย มีน้ำท่วมสูง 40-50 ซม.

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งภาคใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ในวานนี้ (8 พ.ย.) และเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันนี้ (9 พ.ย.) ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ นั้น 

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่จังหวัดชุมพร หลังเกิดฝนตกหนักกระจายทั้งจังหวัด วัดปริมาณฝนที่บ้านโตนดห้าต้น อ.หลังสวน ได้ 170 มิลลิเมตร(มม.) ที่เทศบาลตำบลปากตะโก อ.ทุ่งตะโก 148.60 มม. ที่บ้านห้วยใหญ่ อ.สวี 146.50 มม. ที่บ้านหัวเขาท่ากอ อ.หลังสวน 143.50 มม. ที่บ้านรุ่งเรือง อ.ละแม 140.00 มม. ที่บ้านคลองอารักษ์ อ.พะโต๊ะ 119.50 มม. ที่อ.เมืองชุมพร 117.20 มม. และ ที่อบต.เขาไชราช อ.ปะทิว 112.80 มม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน คลองต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เอ่อล้นตลิ่ง อาทิ คลองท่าแซะ สถานี X.64 อ.ท่าแซะ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.08 เมตร , คลองรับร่อ สถานี X.248 อ.ท่าแซะ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.67 เมตร , คลองท่าตะเภา สถานี X.158 บ้านวังครก อ.ท่าแซะ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.42 เมตร สถานี X.180 สะพานเทศบาล 2 อ.เมืองชุมพร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.70 เมตร , คลองหลังสวน สถานี x.212 ถนนลูกเสือ อ.หลังสวน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.94 เมตร 

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ โครงการชลประทานชุมพร ได้ควบคุมปริมาณน้ำที่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) ท่าแซะ โดยการชะลอน้ำไม่ให้ระบายลงมาสบทบกับปริมาณน้ำที่คลองรับร่อมากเกินไป พร้อมกับทยอยระบายน้ำผ่าน ปตร.หัววัง ปตร.พนักตัก ปตร.สามแก้ว และ ปตร.ท่าตะเภา ให้ไหลออกทะเลสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมไม่ให้น้ำล้นคลองท่าตะเภา ที่อาจจะส่งผลต่อตัวเมืองชุมพรได้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โครงการชลประทาน-ชุมพร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่หมู่ที่ 1 ต.นาทุ่ง 2 เครื่อง และหมู่ที่ 1 ต.นาชะอัง อ.เมือง 1 เครื่อง พร้อมสำรอง เครื่องสูบน้ำไว้ที่โครงการชลประทานชุมพรอีก 17 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 12 เครื่อง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

ส่วนที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่อ.บางสะถาน วัดปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ที่เทศบาล ต.บางสะพานน้อย อ.บางสะพานน้อย ได้มากถึง 207.2 มม. และที่บ้านในล๊อก วัดได้ 137 มม. ส่งผลให้ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กบางแห่งมีน้ำเต็มอ่างฯ และมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น ได้แก่ อ่างฯ โป่งสามสิบ ต.ทองมงคล มีน้ำล้น ทางระบายน้ำล้น (Spillway) 20 เซนติเมตร ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทุกแห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังอยู่ในสภาพปกติ ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมทางหลวงหมายเลข 4 ตอนบางสะพาน – น้ำรอด ได้แก่ บริวณ กม.399+900- กม.400+050 ด้านซ้ายทางบริเวณบ้านศรีนคร ระดับน้ำสูงประมาณ 20 ซม. รถเล็กผ่านได้และเปิดการจราจรได้ตามปกติแล้ว , บริเวณกม.397+700 - กม.397+800 บริเวณบ้านธรรมรัตน์ ด้านซ้ายทางระดับน้ำสูงประมาณ 5-10 ซม. ด้านขวาทางระดับน้ำสูงประมาณ 10 ซม. รถเล็กผ่านได้ และบริเวณกม.392+850 - กม392+900 ด้านซ้ายทางบริเวณหน้า อบต.ทองมงคล ระดับน้ำสูงประมาณ 10 ซม. รถเล็กผ่านได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมชุมชนในบริเวณตลาด อ.บางสะพานน้อย น้ำท่วมสูงประมาณ 40-50 ซม. 

ทั้งนี้ ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อ.บางสะพานน้อย และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตาม ข้อมูลฝน น้ำท่า ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้น้ำท่าในคลองบางสะพานเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง โดยที่สถานี GT.7 (สะพานบ้านวังยาว) ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำจะไหลลงสู่สถานี GT.20 บริเวณหน้ารร.อนุบาลบางสะพาน และอาจส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่งได้ในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 8 พ.ย. 2561

โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ได้รายงานสถานการณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางสะพาน ให้ติดตามและเฝ้าระวังระดับน้ำ พร้อมเตรียมขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูงแล้ว ในส่วนของการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือ โดยติดตั้งเครื่องสูบที่โรงพยาบาลบางสะพานไว้ล่วงหน้าแล้ว 1 เครื่อง พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำอีก 3 เครื่อง และรถแบคโฮ ที่สามารถเข้าไปความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนได้ทันที จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย


'นราธิวาส' สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วม พบ สวนปาล์มเสียหายหนัก

นายนิอิสมะแอล มุหะ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปสำรวจความเสียหายจากเหตุฝนตกหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตามที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับแจ้ง โดยจุดแรกพบที่บ้านบาโงดุดง ม.6 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พบถนนสายบาโงดุดุง – จูโวะ สะพานถูกน้ำฝนกัดเซาะจนดินและหินที่ถมทับอุโมงค์ระบายน้ำจนพังหายไปกับสายน้ำระยะทางยาวประมาณ 5 เมตร จนรถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ เจ้าหน้าที่ต้องนำแผงกันติดประกาศปิดถนนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเกรงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนสายดังกล่าวจะได้รับอันตราย 


9-11-2561 8-11-54.jpg


ล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนตำบลจวบได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทางอำเภอเจาะไอร้อง ทราบแล้ว เพื่อจัดหางบซ่อมแซมให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะจัดตั้งงบประมาณซ่อมอีกครั้งหลังหมดฤดูฝน

ส่วนจุดที่ 2 เจ้าหน้าที่ได้เดินทางต่อไปยังบ้านโคกสะตอ ม.7 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี พบริมถนนเต็มไปด้วยน้ำฝนที่ตกค้างไม่สามารถระบายไปไหนได้ สร้างความเสียหายกับสวนปาล์มของชาวบ้านหลายครอบครัวที่ปลูกไว้นับพันไร่ จึงต้องประสานเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาติดตั้งไว้เพื่อสูบน้ำออกจากสวนปาล์มโดยเร็วก่อนที่ต้นปาล์มจะยืนต้นล้มตาย


9-11-2561 8-13-22.jpg


ด้าน ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพปลูกต้นปาล์มและอาศัยอยู่ในบริเวณละแวกดังกล่าวยังต้องทนกับน้ำท่วมขังเกือบ 10 วัน และต้องเดินเท้าลุยน้ำทั้งเช้าและเย็น โดยบางครอบครัวต้องใช้เรือท้องแบนเพื่อการเดินทางลงจากบ้านพักมายังถนน โดยชาวบ้านบางรายเตรียมพับเสื้อผ้าที่จำเป็นขนย้ายไปพักอาศัยอยู่บ้านเพื่อนสนิดเป็นการชั่วคราวจนกว่าระดับน้ำจะลดลงคืนสภาพเป็นปกติ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะต้องใช้เวลารอคอยกันอีกกี่วัน


ผู้ว่าฯ พัทลุง ลงพื้นที่ตรวจทางน้ำไหล เจอบางจุดตื้นเขิน และมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ

ส่วนที่ จ.พัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัดพัทลุง ออกพื้นที่พบชาวบ้านที่บ้านนามะพร้าว หมู่ที่ 6 บ้านควนขี้แรด หมู่ที่ 7 ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่หมู่บ้านน้ำท่วมซ้ำซาก และชาวบ้านช่วยกันตักทรายใส่กระสอบนำไปวางป้องกันน้ำท่วมริมคลองชลประทานที่ปล่อยน้ำไหลผ่านหมู่บ้าน และเมื่อถึงหน้าฝนของทุกปี น้ำจากคลองชลประทานจะไหลบ่าข้ามคันคลองและเอ่อท่วมหมู่บ้านเป็นประจำ สำหรับปีนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันนำกระสอบทรายไปวางให้คันคลองสูงขึ้นประมาณ 50 ซม. ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมในหมู่บ้านได้ระดับหนึ่ง


IMG_0355.JPG


นายกู้เกียรติ กล่าวภายหลังจากที่ได้ออกสำรวจพื้นที่ต้นน้ำริมเขาบรรทัดว่า คลองหลายสายที่รับน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลสาบ ทางไหลของน้ำบางจุดตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม และมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลแรงจากเทือกเขาบรรทัดเอ่อท่วมหมู่บ้านและพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และจังหวัดพัทลุงก็มีปัญหาน้ำท่วมในทุกอำเภอ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ได้สั่งให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ประสานงานกับฝ่ายทหารและกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหลายๆจุด เพื่อสูบน้ำออกไปสู่ทะเลสาบ

ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ของ จ.พัทลุง มีฝนตกต่อเนื่อง แม้ว่ายังไม่มีน้ำท่วมพื้นที่ แต่ระดับน้ำที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดและฝ่ายทหาร ได้ประชุมวางแผนป้องกัน จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพัทลุง